ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
"มาตรา ๗๘ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ ...(๔) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างปล่อยชั่วคราวตามมาตรา ๑๑๗"
"มาตรา ๑๑๗ เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลที่ทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น"
(ความเห็น.– พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับผู้ต้องหา หรือจำเลยได้ เมื่อหนี หรือจะหลบหนี โดยไม่มีหมายจับ หรือคำสั่งของศาล รวมถึงได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนายประกันที่อยู่ใกล้เคียงให้จับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น
- นายประกันมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีได้เอง โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลเช่นกัน แต่ต้องส่งไปยัง พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานรีบจัดส่งไปยังเจ้าพนักงานหรือศาลทันที
กรณีเป็นเวลาที่ศาลปิดทำการ ให้ดำเนินการดังนี้
"มาตรา ๘๔/๑ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งนั้น จะปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการจับโดยมีหมายของศาลให้รีบดำเนินการตามมาตรา ๖๔ และในกรณีที่ต้องส่งผู้ถูกจับไปยังศาล แต่ไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ”(ความเห็น.- เวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการไม่อาจส่งผู้ถูกจับไปยังศาลได้ ตำรวจมีอำนาจปล่อยชั่วคราว หรือควบคุมไว้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ แล้วรีบจัดส่งไปยังศาลทันที)