วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอออกหมายจับได้

                ศาลจังหวัดชลบุรีขอหารือกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมผู้ต้องหามาแล้วส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ ต่อมามีการปล่อยตัวผู้ต้องหาเนื่องจากได้รับการประกันตัวในชั้นอัยการหรือเหตุอื่นใด เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องแต่ผู้ต้องหาหลบหนีหรือไม่มาศาลตามนัด และมีความจำเป็นที่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องดังกล่าวแล้ว บุคคลที่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับในข้อหาที่สั่งฟ้องเมื่อจับกุมผู้ต้องหามาฟ้องนั้น ควรเป็นพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอออกหมายจับได้ ตามข้อ 9 ของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญาพ.ศ. 2548 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 และมาตรา 143
                สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 9 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ร้องขอให้ออกหมายว่า "พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่นซึ่งร้องขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้น จะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้น..." ซึ่งมีข้อสังเกตตามคู่มือการออกคำสั่งหรือหมายอาญาว่า เจ้าพนักงานอื่น หมายความรวมถึง เจ้าพนักงานที่ทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายที่ตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปรามเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เจ้าพนักงานสอบสวนคดีภาษี หรือพนักงานอัยการ
              ดังนี้ พนักงานอัยการจึงเป็นเจ้าพนักงานอื่นที่ร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาได้ สำหรับพนักงานสอบสวนอาจร้องขอให้ศาลออกหมายจับตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้น แม้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จและได้เสนอความเห็นควรสั่งฟ้องพร้อมส่งสำนวนกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการแล้ว ก็มีผลเพียงให้พนักงานสอบสวนหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนต่อไป ไม่ได้ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนร้องขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาลเมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับตามกฎหมายแต่ประการใด

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ออกหมายจับผิดตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5
          การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน
          คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว