วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

การจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                 หมายจับ ตาม มาตรา ๒ (๙) เป็นหมายอาญาอย่างหนึ่ง
                “หมายอาญา” หมายความถึง หนังสือบงการที่ออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับ ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายจับหรือหมายค้นอันได้รับรองว่าถูกต้อง และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่า ได้ออกหมายจับหรือหมายค้นแล้ว ตลอดจนสำเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗
                มาตรา ๗  ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
                ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว ขัง หรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล ในคดีที่นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
                มาตรา ๖๘  หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความ หรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน
                มาตรา ๗๗  หมายจับให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร  การจัดการตามหมายจับนั้น จะจัดการตามเอกสารหรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้
                  (๑) สำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้องแล้ว
                  (๒) โทรเลขแจ้งว่าได้ออกหมายแล้ว
                  (๓) สำเนาหมายที่ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
                  การจัดการตาม (๒) และ (๓) ให้ส่งหมายหรือสำเนาอันรับรองแล้วไปยังเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายโดยพลัน
                 มาตรา ๓๓  ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่ จะได้ทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน   (โดยหลักแล้ว จับในที่รโหฐาน จะกระทำไม่ได้)
                 มาตรา ๙๒  ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้
                     (๑)  เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น
                     (๒)  เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากําลังกระทําลงในที่รโหฐาน
                     (๓)  เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน้นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
                     (๔)  เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทําลายเสียก่อน
                    (๕)  เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับ หรือจับตามมาตรา ๗๘
                    การใช้อํานาจตาม (๔)  ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจผู้ค้น ส่งมอบสําเนาบันทึกการตรวจค้น และบัญชีทรัพย์ที่ได้จากการตรวจค้น รวมทั้งจัดทําบันทึกแสดงเหตุผลที่ทําให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ที่ถูกตรวจค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้ส่งมอบหนังสือดังกล่าวแก่บุคคลเช่นว่านั้นในทันทีที่กระทําได้ และรีบรายงานเหตุผลและผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป

               มาตรา ๗๘  เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับ หรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
                    (๑)  เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา  ๘๐    
                           (ม.๘๐) ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทํา หรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ (มีอำนาจจับในทุกความผิดและต้องมีตัวผู้กระทำความผิดอยู่ต่อหน้าจริง ๆ)      
                      อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดั่งระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่า ความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดั่งนี้            
                           ๑)  เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดั่งผู้กระทําโดยมีเสียงร้องเอะอะ
                           ๒)  เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทําผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้น และมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทําผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่า ได้ใช้ในการกระทําผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น        
                    (๒)  เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า ผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทําความผิด
                    (๓)  เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา ๖๖ (๒) แต่มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้    
                          (มาตรา ๖๖ (๒)  เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทําความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
                          ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียก หรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่า บุคคลนั้นจะหลบหนี)
                          (ตามคำสั่ง ตร.ที่ ๙๖๐/๒๕๕๖  เช่น กรณีที่มีผู้เสียหายชี้ให้จับ หากได้มีการสืบสวนสอบสวนจนปรากฏหลักฐานตามสมควรว่าผู้ที่จะถูกจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ฯลฯ ทั้งเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้ทัน เจ้าพนักงานตำรวจก็มีอำนาจจับกุมทันที โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล แต่ถ้ายังไม่ได้เริ่มทำการสืบสวนสอบสวน เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องตรวจสอบข้อมูลหรือหลักฐานจากผู้เสียหายเสียก่อน ถ้าปรากฏว่ามีหลักฐานเชื่อถือได้ตามสมควรว่าผู้ที่จะถูกจับนั้น น่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ฯลฯ และไม่มีโอกาสที่จะไปขอให้ศาลออกหมายจับได้ทัน เจ้าพนักงานตำรวจก็มีอำนาจจับกุมบุคคลนั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจับเช่นเดียวกัน)
                    (๔)  เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจําเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา ๑๑๗
                           (มาตรา ๑๑๗ เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น)
                 มาตรา ๗๙  ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่ จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา ๘๒ หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย
                 มาตรา ๘๒  เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้เคียงเพื่อจัดการตามหมายนั้นก็ได้ แต่จะบังคับให้ผู้ใดช่วยโดยอาจเกิดอันตรายแก่เขานั้นไม่ได้