วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตำรวจจับโดยไม่แต่งเครื่องแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2546
                 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นเพื่อจะจับกุมจำเลยเพราะสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วย ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ การที่ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากีสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว จะให้จำเลยเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่เข้ามาตรวจค้นจับกุมนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นไปไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่า ทั้งผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน จำเลยจึงไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าขณะที่พยานเดินเข้าไปหาจำเลยพยานได้บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดี และที่นายสมจิตรเบิกความอ้างว่าได้ยินผู้เสียหายที่ 1 พูดว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดีนั้น เห็นว่า ในภาวะเช่นนั้นจะให้จำเลยแน่ใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่เข้ามาขอทำการตรวจค้นนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้แสดงบัตรประจำตัวให้จำเลยเห็นหรือรู้แต่อย่างใด ส่วนนายบุญมา นายประสิทธิ์และนายจำปี พยานโจทก์ทั้งสามเพิ่งเห็นเหตุการณ์ภายหลังซึ่งเป็นตอนที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกันแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวได้ยินหรือเห็นตอนที่ผู้เสียหายที่ 1 แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างไร ซึ่งในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุ จำเลยก็เบิกความยืนยันปฏิเสธอยู่ว่า ไม่เคยรู้จักผู้เสียหายที่ 1 มาก่อน ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ จำเลยทราบภายหลังว่าผู้ที่ต่อสู้กอดปล้ำกับจำเลยนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่า ตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยจะได้ต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตรวจค้นและจับกุมจำเลย ก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังโจทก์ฟ้องไม่ แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และลงโทษมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
                 ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำ โดยจำเลยขึ้นคร่อมร่างกายของผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยพยายามจะชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้คนช่วย มีชาย 4 ถึง5 คน ซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านของนายสมจิตรวิ่งเข้ามาจะช่วย จำเลยตะโกนว่าอย่าเข้ามากูยิง แล้วจำเลยชักอาวุธปืนออกจากเอวขึ้นมา พวกชายดังกล่าววิ่งมาครึ่งทางจึงหยุด จำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยอีกและใช้มือปัดป้อง นายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวที่อ้างว่าจำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่ตัวผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ หรือพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ในลักษณะอย่างไร ตามสภาพการณ์ดังกล่าวกลับส่อแสดงให้เห็นได้ว่าในขณะนั้นจำเลยยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดประการหนึ่ง ส่วนที่นายสมจิตรพยานโจทก์เบิกความถึงเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวด้วยว่า ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำโดยผู้เสียหายที่ 1 นอนหงายอยู่ข้างล่าง จำเลยอยู่ข้างบน จำเลยใช้มือขวาชักอาวุธปืนที่เอวและใช้มือซ้ายค้ำคอผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ทำท่าจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยพยานจึงเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ ซึ่งหากจะฟังตามคำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าวก็เห็นได้ว่า ก่อนที่นายสมจิตรจะเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จำเลยน่าจะมีจังหวะที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ทันที ไม่น่าจะต้องทำท่าจะยิงดังที่นายสมจิตรเบิกความ นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่บริเวณใดของร่างกายผู้เสียหายที่ 1 คำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าว จึงคลุมเครือไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดอีกประการหนึ่ง พฤติการณ์การกระทำของจำเลยในเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวมานี้ จึงส่อให้เห็นไปได้ว่าที่จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลยเพื่อขู่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ปล่อยจากการต่อสู้กอดปล้ำมากกว่าที่จะมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า ขณะที่จำเลยกอดปล้ำกับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวและถือไว้เพื่อจะขู่เจ้าพนักงานตำรวจ(ผู้เสียหายที่ 1) ให้พ้นจากการจับกุม
                หลังจากนายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนของจำเลยจากจำเลยไปได้แล้ว จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกันอยู่ จำเลยแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 จากเอวของผู้เสียหายที่ 1ไปได้ ผู้เสียหายที่ 1 พยายามจะแย่งอาวุธปืนคืน นายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ นายสมจิตรเบิกความว่า ขณะต่อสู้กอดปล้ำจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จับมือจำเลยที่ถืออาวุธปืนและตะโกนขอให้ช่วย พยานวิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ เหตุการณ์ตอนนี้จึงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกัน และจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวผู้เสียหายที่ 1 ไปได้แล้วนายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ไปจากจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ที่แย่งมาได้เล็งจ้องจะยิงผู้เสียหายที่ 1 แต่อย่างใด

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

การจับโดยพนักงานสอบสวน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                "มาตรา ๑๓๔  เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ            
                      การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทําผิดตามข้อหานั้น        
                      ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม                
                      พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้
                      เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา ๗๑ พนักงานสอบสวนมีอํานาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที  แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิด หรือใกล้จะปิดทําการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทําการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอํานาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอํานาจปล่อยชั่วคราว หรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น"
                ข้อพิจารณา.-  การแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดตาม ม.๑๓๔ วรรคหนึ่ง เป็นบทบังคับเด็ดขาด หากพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทราบก่อนแจ้งข้อหา ย่อมเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา ๑๒๐
                        - ในการแจ้งข้อหา กรณีมีคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ แต่ยังไม่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิด หากผู้นั้นมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลยพินิจไม่แจ้งข้อหาแก้ผู้นั้นได้
                       -  กรณีที่ผู้ต้องหามาอยู่ต่อหน้า ถ้าไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลยพินิจที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมหรือไม่ควบคุมผู้ต้องหาก็ได้  กล่าวคือ
                           วิธีแรก เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี(หรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัว) หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น พนักงานสอบสวนสามารถสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที เว้นแต่ เป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ พนักงานสอบสวนจะต้องสั่งให้ผู้ต้องหาไปยังศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ โดยไม่สามารถสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในวันอื่นได้ ซึ่งศาลก็จะพิจารณาสั่งขังตามมาตรา ๘๗ ต่อไป
                           วิธีที่สอง พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ไม่มีการควบคุม และไม่มีการขออำนาจศาลออกหมายขัง แต่พนักงานสอบสวนจะนัดให้ผู้ต้องหามาพบอีกครั้ง เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการต่อไปตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๒ วรรคสาม  
                          มาตรา ๗๑  เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจําเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจําเลยไว้ตามมาตรา ๘๗ หรือมาตรา ๘๘ ก็ได้ และให้นําบทบัญญัติในมาตรา ๖๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
                          มาตรา ๘๗  ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจําเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ฯลฯ
                          มาตรา ๖๖   เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
                             (๒)  เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
                                     ถ้าบุคคลนั้น ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัว ให้สันนิษฐานว่า บุคคลนั้นจะหลบหนี
                        -   กรณีมีการจับผู้ต้องหาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดซึ่งหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ แต่เมื่อมีเจ้าพนักงานผู้จับนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนพร้อมด้วยบันทึกการจับกุมแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังได้ตาม มาตรา ๑๓๔ วรรคห้า เพราะการจับผู้ต้องหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือได้ว่า ผู้ต้องหานั้นไม่ใช่ผู้ถูกจับและไม่ใช่ผู้ถูกควบคุม ทั้งยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่มีเหตุที่จะออกหมายขังตามมาตรา ๗๑ และมาตรา ๖๖ (๒) ได้
                       -  กรณีผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ไปศาลในวันที่ศาลเปิดทำการ พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับ โดยกฎหมายให้ถือว่าเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วน และมีอํานาจปล่อยชั่วคราว หรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น ทั้งนี้ ควรจะต้องมีหลักฐานว่าผู้ต้องหารับทราบวันนัดนั้นด้วย
                       -  อำนาจจับกุมตามมาตรา ๗๘ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจจับกุมในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจด้วยเช่นกัน กรณีมีหมายจับ หรือจับตามข้อยกเว้น เช่น เหตุซึ่งหน้า น่าจะก่อเหตุร้าย มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอหมายจับได้ทัน หรือจับผู้ต้องหาที่หนีหรือจะหนีในระหว่างปล่อยชั่วคราว (คลิกที่นี่)

การจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                 หมายจับ ตาม มาตรา ๒ (๙) เป็นหมายอาญาอย่างหนึ่ง
                “หมายอาญา” หมายความถึง หนังสือบงการที่ออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับ ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายจับหรือหมายค้นอันได้รับรองว่าถูกต้อง และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่า ได้ออกหมายจับหรือหมายค้นแล้ว ตลอดจนสำเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗
                มาตรา ๗  ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
                ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว ขัง หรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล ในคดีที่นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
                มาตรา ๖๘  หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความ หรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน
                มาตรา ๗๗  หมายจับให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร  การจัดการตามหมายจับนั้น จะจัดการตามเอกสารหรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้
                  (๑) สำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้องแล้ว
                  (๒) โทรเลขแจ้งว่าได้ออกหมายแล้ว
                  (๓) สำเนาหมายที่ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
                  การจัดการตาม (๒) และ (๓) ให้ส่งหมายหรือสำเนาอันรับรองแล้วไปยังเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายโดยพลัน
                 มาตรา ๓๓  ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่ จะได้ทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน   (โดยหลักแล้ว จับในที่รโหฐาน จะกระทำไม่ได้)
                 มาตรา ๙๒  ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้
                     (๑)  เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น
                     (๒)  เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากําลังกระทําลงในที่รโหฐาน
                     (๓)  เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน้นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
                     (๔)  เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทําลายเสียก่อน
                    (๕)  เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับ หรือจับตามมาตรา ๗๘
                    การใช้อํานาจตาม (๔)  ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจผู้ค้น ส่งมอบสําเนาบันทึกการตรวจค้น และบัญชีทรัพย์ที่ได้จากการตรวจค้น รวมทั้งจัดทําบันทึกแสดงเหตุผลที่ทําให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ที่ถูกตรวจค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้ส่งมอบหนังสือดังกล่าวแก่บุคคลเช่นว่านั้นในทันทีที่กระทําได้ และรีบรายงานเหตุผลและผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป