วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตำรวจจับโดยไม่แต่งเครื่องแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2546
                 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นเพื่อจะจับกุมจำเลยเพราะสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วย ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ การที่ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากีสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว จะให้จำเลยเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่เข้ามาตรวจค้นจับกุมนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นไปไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่า ทั้งผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน จำเลยจึงไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าขณะที่พยานเดินเข้าไปหาจำเลยพยานได้บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดี และที่นายสมจิตรเบิกความอ้างว่าได้ยินผู้เสียหายที่ 1 พูดว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดีนั้น เห็นว่า ในภาวะเช่นนั้นจะให้จำเลยแน่ใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่เข้ามาขอทำการตรวจค้นนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้แสดงบัตรประจำตัวให้จำเลยเห็นหรือรู้แต่อย่างใด ส่วนนายบุญมา นายประสิทธิ์และนายจำปี พยานโจทก์ทั้งสามเพิ่งเห็นเหตุการณ์ภายหลังซึ่งเป็นตอนที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกันแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวได้ยินหรือเห็นตอนที่ผู้เสียหายที่ 1 แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างไร ซึ่งในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุ จำเลยก็เบิกความยืนยันปฏิเสธอยู่ว่า ไม่เคยรู้จักผู้เสียหายที่ 1 มาก่อน ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ จำเลยทราบภายหลังว่าผู้ที่ต่อสู้กอดปล้ำกับจำเลยนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่า ตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยจะได้ต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตรวจค้นและจับกุมจำเลย ก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังโจทก์ฟ้องไม่ แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และลงโทษมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
                 ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำ โดยจำเลยขึ้นคร่อมร่างกายของผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยพยายามจะชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้คนช่วย มีชาย 4 ถึง5 คน ซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านของนายสมจิตรวิ่งเข้ามาจะช่วย จำเลยตะโกนว่าอย่าเข้ามากูยิง แล้วจำเลยชักอาวุธปืนออกจากเอวขึ้นมา พวกชายดังกล่าววิ่งมาครึ่งทางจึงหยุด จำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยอีกและใช้มือปัดป้อง นายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวที่อ้างว่าจำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่ตัวผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ หรือพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ในลักษณะอย่างไร ตามสภาพการณ์ดังกล่าวกลับส่อแสดงให้เห็นได้ว่าในขณะนั้นจำเลยยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดประการหนึ่ง ส่วนที่นายสมจิตรพยานโจทก์เบิกความถึงเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวด้วยว่า ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำโดยผู้เสียหายที่ 1 นอนหงายอยู่ข้างล่าง จำเลยอยู่ข้างบน จำเลยใช้มือขวาชักอาวุธปืนที่เอวและใช้มือซ้ายค้ำคอผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ทำท่าจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยพยานจึงเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ ซึ่งหากจะฟังตามคำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าวก็เห็นได้ว่า ก่อนที่นายสมจิตรจะเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จำเลยน่าจะมีจังหวะที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ทันที ไม่น่าจะต้องทำท่าจะยิงดังที่นายสมจิตรเบิกความ นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่บริเวณใดของร่างกายผู้เสียหายที่ 1 คำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าว จึงคลุมเครือไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดอีกประการหนึ่ง พฤติการณ์การกระทำของจำเลยในเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวมานี้ จึงส่อให้เห็นไปได้ว่าที่จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลยเพื่อขู่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ปล่อยจากการต่อสู้กอดปล้ำมากกว่าที่จะมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า ขณะที่จำเลยกอดปล้ำกับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวและถือไว้เพื่อจะขู่เจ้าพนักงานตำรวจ(ผู้เสียหายที่ 1) ให้พ้นจากการจับกุม
                หลังจากนายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนของจำเลยจากจำเลยไปได้แล้ว จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกันอยู่ จำเลยแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 จากเอวของผู้เสียหายที่ 1ไปได้ ผู้เสียหายที่ 1 พยายามจะแย่งอาวุธปืนคืน นายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ นายสมจิตรเบิกความว่า ขณะต่อสู้กอดปล้ำจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จับมือจำเลยที่ถืออาวุธปืนและตะโกนขอให้ช่วย พยานวิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ เหตุการณ์ตอนนี้จึงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกัน และจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวผู้เสียหายที่ 1 ไปได้แล้วนายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ไปจากจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ที่แย่งมาได้เล็งจ้องจะยิงผู้เสียหายที่ 1 แต่อย่างใด

                  ไม่ปรากฏว่าได้มีการตรวจพิสูจน์กระสุนปืน 2 นัด ว่ามีรอยถูกเข็มแทงชนวนแทงหรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่ากระสุนปืน 2 นัดดังกล่าวหรือนัดหนึ่งนัดใดใช้ยิงแล้วแต่กระสุนไม่ลั่น ดังนี้ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่อ้างว่า จำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 เล็งยิงผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นดังกล่าวข้างต้นก็ดี ที่นายสมจิตรพยานโจทก์เบิกความอ้างว่า จำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 จ้องเล็งไปที่ผู้เสียหายที่ 1 แล้วเหนี่ยวไกปืนแต่กระสุนปืนไม่ลั่นก็ดี ล้วนเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ทั้งจำเลยก็เบิกความยืนยันปฏิเสธว่าเมื่อผู้เสียหายที่ 1 ทิ้งอาวุธปืนแล้ววิ่งออกไปจากร้านนายสมจิตรนั้น จำเลยเพียงเก็บอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 แล้วไปขึ้นรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งติดเครื่องอยู่บริเวณนั้นขับออกไป ในข้อนี้นายบุญมาพยานโจทก์ก็เบิกความว่าเมื่อจำเลยแย่งอาวุธปืนจากผู้เสียหายที่ 1 ได้แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งเข้าไปในร้านของนายสมจิตร ส่วนจำเลยวิ่งไปขึ้นรถยนต์ของพยานซึ่งติดเครื่องอยู่ขับหลบหนีไป ซึ่งเจือสมคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจากพยานหลักฐานและเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้เป็นมั่นคงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาโดยใช้อาวุธปืนของจำเลยเองหรือของผู้เสียหายที่ 1 เล็งจ้องพร้อมที่จะยิงหรือได้ยิงตามที่โจทก์ฟ้อง
               ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงนั้น ผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรเบิกความถึงเหตุการณ์ตอนนี้ทำนองเดียวกันว่า ในขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้ชกต่อยกอดปล้ำ จำเลยได้ล้วงเอามีดพับปลายแหลมของกลางจากกระเป๋ากางเกงของจำเลยแล้วจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ถูกที่หน้าอก 1 แผล ที่โหนกแก้ม 1 แผล ผู้เสียหายที่ 1 ยกขาขึ้นเตะถูกมีดของจำเลยที่ขาอีก 1 แผล ผู้เสียหายที่ 1 ขัดขาจำเลยล้มลงแล้วขึ้นคร่อมร่างกายของจำเลยและใช้มือข้างหนึ่งจับมือจำเลยที่ถือมีดไว้และใช้มืออีกข้างหนึ่งต่อยใบหน้าจำเลย 10 กว่าครั้ง จำเลยต่อสู้ดิ้นรนและถีบผู้เสียหายที่ 1 กระเด็นออกไป ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งไปเอาอาวุธปืนจากนายสมจิตร ขณะนั้นจำเลยถือมีดวิ่งเข้ามาผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงขู่ 1 นัด จำเลยยังคงวิ่งเข้ามา ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงที่บริเวณขาจำเลย 2 นัด จำเลยวิ่งเข้ามาจับมือผู้เสียหายที่ 1 ที่ถืออาวุธปืนและใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ถูก ขณะที่จำเลยจับมือผู้เสียหายที่ 1 ที่ถืออาวุธปืน ทำให้ปืนลั่น 2 นัดทราบภายหลังว่าถูกจำเลย จากนั้น จำเลยยังแทงผู้เสียหายที่ 1 อีก ผู้เสียหายที่ 1 ถอยจนติดตู้ขายของในร้านนายสมจิตร ผู้เสียหายที่ 1 จึงทิ้งอาวุธปืนและใช้มือปัดป้องแล้ววิ่งหนีออกไป เห็นว่าตามภาพถ่ายมีดพับปลายแหลมของกลาง ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นมีดที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายที่ 1 ปรากฏว่าทั้งด้ามไม้และตัวมีดยาว 18.5 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 คืบ เฉพาะตัวมีดยาว 7.5 เซนติเมตร บาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ที่แพทย์ได้ชันสูตรไว้ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าแข้งซ้าย ยาว 1.5 เซนติเมตร ลึก 0.3 เซนติเมตร รอยแผลถลอกที่บริเวณข้อศอก โหนกแก้ม 2 ข้าง ที่เข่าขวาและหลังมือขวา บาดแผลฉีกขาด และแฉลบที่หน้าอกข้างขวาและที่ปลายนิ้วก้อยข้างขวา และบาดแผลฟกช้ำที่บริเวณลิ้นปี่ โดยไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่าบาดแผลดังกล่าวอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงแก่ความตายได้ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรตลอดจนมีพับปลายแหลมของกลางและบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับประกอบกันแล้ว เห็นได้ว่าที่จำเลยใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงผู้เสียหายที่ 1 ในช่วงแรกเป็นการแทงในขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 กำลังต่อสู้กอดปล้ำกัน และแทงในช่วงหลังก็เป็นเหตุการณ์ที่พัวพันต่อเนื่องกันในช่วงแรก จึงเป็นการแทงด้วยอาการฉุกละหุกโดยไม่มีโอกาสเลือกแทงและมีดที่ใช้แทงก็เป็นเพียงมีดพับปลายแหลมซึ่งยาวทั้งด้ามและตัวมีด 18.5 เซนติเมตรหรือประมาณ 1 คืบ เฉพาะตัวมีดยาว 7.5 เซนติเมตร ประกอบกับลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับก็ไม่ปรากฏว่าอาจทำให้ถึงตายได้ดังกล่าวแล้ว กรณียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 คงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น
               ในเหตุการณ์ที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้ชกต่อยกอดปล้ำกันนั้น จำเลยเป็นฝ่ายใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงผู้เสียหายที่ 1 ก่อน ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงจำเลย ทั้งตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย จำเลยก็ได้ให้การว่า เมื่อนายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 กอดปล้ำชกต่อยกันอยู่กับพื้น สักครู่หนึ่งจึงลุกขึ้นมา จำเลยชักมีดปลายแหลมออกจากกระเป๋ากางเกงของจำเลยแล้วจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ไม่ทราบถูกบริเวณใดบ้าง ผู้เสียหายที่ 1วิ่งไปในร้านแล้วเอาอาวุธปืนจากนายสมจิตรมาถือไว้ จำเลยตามไปจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 อีก ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรดังกล่าว ฟังได้ว่าจำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 ก่อน ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิง ที่จำเลยนำสืบและฎีกาอ้างว่าผู้เสียหายที่ 1 ยิงจำเลยก่อน จำเลยจึงใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 นั้น จึงขัดแย้งกับที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังจำเลยฎีกา จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ที่ได้รับดังกล่าวข้างต้นนั้นใช้เวลารักษาประมาณกี่วันจึงหายปกติ หรือทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันแต่อย่างใด ทั้งผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความว่าแพทย์ได้ทำบาดแผลแล้วให้กลับบ้านโดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส คงฟังได้เพียงว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หรือไม่อีกต่อไปเพราะไม่เป็นสาระแก่คดี
                อนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว แต่ให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องต้องเป็นว่าฐานลักทรัพย์ จำคุก 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 4 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวตามโทษจำคุกที่กล่าวมานี้ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
                จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 1 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานลักทรัพย์ 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 20 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และมาตรา 289