วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

การกำหนดวงเงินประกันในชั้นสอบสวน

คำสั่ง ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
            -  คำสั่ง ตร. ที่ ๘๐/๒๕๕๑ ลง ๓๐ ม.ค.๒๕๕๑ เรื่องการกำหนดวงเงินประกัน การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกันและการใช้บุคคลเป็นประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
           -  ป.วิ.อ. มาตรา ๑๑๐ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.วิ.อ. (ฉ.๒๒) พ.ศ.๒๕๔๗
           -  กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พ.ศ.๒๕๔๙
          -  ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๘
 การกำหนดวงเงินประกันในชั้นสอบสวน
           ๑.  คดีความผิดลหุโทษหรือที่มีโทษปรับสถานเดียว
                 = ไม่เกินร้อยละ ๓๗.๕ ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น
          ๒.  คดีความผิดที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอัตราโทษปรับสูง ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม
                = ไม่ควรเกินร้อยละ ๓๗.๕ ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น และไม่ว่ากรณีใดต้องไม่เกินอัตราโทษปรับขั้นสูง
          ๓.  คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ไม่เกิน ๕ ปี
                 = ไม่เกิน ๗๕,๐๐๐ บาท
          ๔.  คดีที่มีอัตราโทษจำคุก เกิน ๕ ปี แต่ไม่มีโทษสถานอื่นที่หนักกว่าโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย
                = ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท / ระวางโทษจำคุก ๑ ปี (ทั้งในส่วนที่เป็นอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำ)
          ๕.  คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต
                = ไม่เกิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท
          ๖.  คดีที่มีโทษประหารชีวิต
                = ไม่เกิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท
          ๗.  คดีที่มีหลายข้อหา  (๑) ความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท  (๒) ความผิดหลายกรรมต่างกัน
                =  ให้ถือข้อหาที่มีอัตราโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์
          ๘.  กรณี
                (๑)  ผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส   หรือ
               (๒)  ผู้ขอประกันใช้หลักทรัพย์ที่มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดี   หรือ
               (๓)  ความผิดที่ผู้ต้องหากระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน
                    = จะกำหนดวงเงินประกันต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้
          ๙.  ผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส ใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์ที่มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน
                  = ให้วางเงินสดหรือหลักทรัพย์เพียงร้อยละ ๒๐ จากจำนวนวงเงินประกันที่กำหนดก็ได้
          ๑๐. กรณีผู้ต้องหา
                 (๑)  เป็นหญิงมีครรภ์ หรือ
                 (๒)  มีบุตรอายุไม่เกิน ๓ ปี อยู่ในความดูแล หรือ
                 (๓)  เป็นผู้เจ็บป่วย ถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือ
                 (๔)  เป็นผู้พิการหรือสูงอายุ ซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจจะเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่างต้องขัง
                  = กำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
         ๑๑.  ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน
                  = ไม่ได้กำหนดไว้

การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกัน และเอกสารที่ต้องแสดง
           ๑.   เงินสด
           ๒.  ที่ดินมีโฉนด
                 = โฉนดที่ดิน  และ หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
           ๓.  ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์
                 = หนังสือรับรองการทำประโยชน์ และ หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
           ๔.  ห้องชุด
                 = หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และ  หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
           ๕.  ที่ดิน  และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน
                 = โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  และ สำเนาทะเบียนบ้าน  และ หนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างที่น่าเชื่อถือ
            ๖.  หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล , สลากออมสิน , บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร  , ใบรับเงินฝากประจำธนาคาร  , ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว , ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว , เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทำสัญญาประกัน  , หนังสือรับรองของธนาคาร หรือบริษัทประกันภัยเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
                  = เอกสารหลักฐานของหลักทรัพย์แต่ละประเภท อนึ่ง ในกรณีมีข้อสงสัยให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบเพื่อขอคำยืนยันจากธนาคารหรือบริษัทประกันภัย ที่ออกหนังสือรับรองนั้น    



การใช้บุคคลเป็นประกัน
             ๑.  ผู้ขอประกันเป็นบุคคลธรรมดา
                  ผู้ขอประกันต้องเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน และ (๑) เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหา หรือ (๒) เป็นบุคคลที่เห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่เห็นสมควรให้ประกันได้
                  - วงเงิน ให้พิจารณาจากเงินเดือน หรือรายได้ โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน ๑๐ เท่าของอัตราเงินเดือน หรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
                     = ให้ยื่นคำร้องด้วยตนเอง และเสนอหนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้างหรือหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้ และหากผู้ขอประกันมีคู่สมรส ให้แสดงหลักฐานการยินยอมของคู่สมรสด้วย   ในกรณีฉุกเฉินไม่อาจเสนอหนังสือรับรองได้ทัน ให้ผ่อนผันโดยแสดงหลักฐานอื่น เช่น บัตรประจำตัวที่แสดงฐานะเช่นนั้น และให้นำหนังสือยินยอมมาแสดงภายหลัง , หากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้ อาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอกับวงเงินประกันนี้ได้ , อาจมีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกันทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้ , หากผู้ประกันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็ให้คงมีสิทธิประกันต่อไป โดยอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้หาหลักประกันเพิ่มหรือดีกว่าเดิมได้
              ๒. ผู้ขอประกันเป็นนิติบุคคล
                    กรณีผู้ต้องหาเป็นกรรมการผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วนพนักงาน ลูกจ้างของนิติบุคคล
                    - วงเงิน ตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไป
                       = อาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติม โดยจะต้องแสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนและหลักฐานแสดงฐานะการเงิน และผู้มีอำนาจทำการแทน , ในกรณีฉุกเฉินไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาแสดงได้ทัน ให้ผ่อนผันโดยแสดงสำเนาเอกสารดังกล่าวและให้นำต้นฉบับเอกสารมาแสดงภายหลัง
               ๓.  ผู้ขอประกันเป็นส่วนราชการ
                     ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา
                     - วงเงิน  ตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไป
                        = หากจำนวนเงินที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองหรือคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเพียงพอแล้ว ควรถือว่าหนังสือรับรอง หรือคำร้องนั้น เป็นหลักประกันที่เชื่อถือได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๐๘ (๔)
             ๔.  ผู้ต้องหาทำสัญญาประกันตนเอง
                   (๑)  ผู้ต้องหาเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน
                          - วงเงิน ให้พิจารณาจากเงินเดือนหรือรายได้โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน ๑๐ เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
                  (๒)  ผู้ต้องหา เป็นพนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร  สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เห็นสมควรให้ประกันได้ และ  การกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพนั้น
                         - วงเงิน  ให้พิจารณาจากเงินเดือนหรือรายได้โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน ๑๕ เท่า ของอัตราเงินเดือน หรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
                           = ให้ยื่นคำร้องด้วยตนเองและเสนอหนังสือรับรองจากต้นสังกัด หรือนายจ้างหรือหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้และหากผู้ขอประกันมีคู่สมรสให้แสดงหลักฐานการยินยอมของคู่สมรสด้วย ในกรณีฉุกเฉินไม่อาจเสนอหนังสือรับรองได้ทัน ให้ผ่อนผันโดยแสดงหลักฐานอื่น เช่น บัตรประจำตัวที่แสดงฐานะเช่นนั้น และให้นำหนังสือรับรอง หรือหนังสือยินยอมมาแสดงภายหลัง , หากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้ อาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอกับวงเงินประกันได้ , อาจมีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกันทำสัญญาโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้ , หากผู้ประกันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็ให้คงมีสิทธิประกันต่อไป โดยอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้หาหลักประกันเพิ่มหรือดีกว่าเดิมได้