วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560

การควบคุมผู้ต้องขังเดินทาง

ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี
ลักษณะที่ ๖  การควบคุม 
บทที่ ๕  การนำผู้ถูกควบคุมเดินทาง 
             ข้อ ๑๔๘  วิธีการควบคุมระหว่างเดินทาง ให้ปฏิบัติดังนี้  
                         (๒)  ถ้าจะควบคุมหรือพาผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังไปยังสถานที่หนึ่งที่ใดให้ใช้ยานพาหนะตามแต่กรณี ดังต่อไปนี้
                            ก. ในกรุงเทพมหานคร  การควบคุมพาผู้ต้องหาก็ดี หรือจำเลย หรือผู้ต้องขังก็ดี ให้ไปมาในหน้าที่ที่กิจราชการของตำรวจโดยตรง ให้ใช้ยานพาหนะของตำรวจแต่ละหน่วย ที่เป็นผู้ควบคุม
                            ข.  ถ้าการควบคุมผู้ต้องขังหรือจำเลยนั้นเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์หรือกรมประชาสงเคราะห์  ทางการตำรวจเป็นแต่มีหน้าที่ดำเนินการควบคุม  ให้ใช้ยานพาหนะของกรมราชทัณฑ์หรือกรมประชาสงเคราะห์ตามควรแก่กรณี

บทที่ ๗  การรับช่วงคุมส่ง  
              ข้อ ๑๕๒  การควบคุมตัวผู้ต้องขัง หรือจำเลย หรือผู้ต้องหา ไปส่งยังจังหวัดที่มีการคมนาคมไม่สะดวก  ตำรวจในจังหวัดอื่นที่ควบคุมไม่มีความชำนาญต่อท้องที่ย่อมไปมาลำบาก ทั้งผู้ต้องขังหรือจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ควบคุมไปอาจหลบหนีได้โดยง่าย จำเป็นต้องจัดให้ตำรวจผู้ชำนาญทางกว่ารับช่วงคุมส่งไปให้ ....

บทที่ ๙   การควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือผู้ต้องขัง ไปมาระหว่างศาลกับเรือนจำ  
             ข้อ ๑๕๗   ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำผู้มอบตัวและตำรวจผู้รับมอบตัวควบคุมไปศาล ต่างฝ่ายต่างจัดสมุดไว้ฝ่ายละ ๑ เล่ม สำหรับจดรายชื่อตามที่มอบและรับตัวไว้ ให้ตำรวจผู้รับตัวลงนามรับในสมุดของพนักงานเรือนจำ และให้พนักงานเรือนจำทำเป็นบัญชีรายชื่ออีกฉบับหนึ่งซึ่งตรงกับรายนามในสมุด มอบแก่ตำรวจผู้ควบคุมไว้เป็นคู่มือตรวจสอบ
              ส่วนสมุดจดรายชื่อฝ่ายตำรวจ ให้ตำรวจผู้ควบคุม ที่นำตัวกลับจากศาลนั้น ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำลงนามรับตัวคืนในสมุดนั้นเป็นหลักฐาน
             ข้อ ๑๕๘  ถ้าตำรวจผู้ควบคุมได้รับตัวผู้ถูกควบคุมเพิ่มเติมจากศาลด้วยกรณีใดก็ตาม ก็ให้ลงรายนามเพิ่มเติมในสมุดของตำรวจ แล้วมอบตัวแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ พร้อมกับหมายศาลส่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำลงนามรับไว้ในสมุดเป็นหลักฐานเช่นเดียวกัน

มาตรการควบคุมผู้ต้องขัง 
(ตามหนังสือที่ ยธ ๐๗๐๕.๑/๓๓๔๐๕ ลง ๓ พ.ย.๒๕๕๘) 
ผู้ต้องขังไปศาล  
เรือนจำ / ทัณฑสถาน ส่วนภูมิภาค
             ๒๔.  หน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังจากเรือนจำไปศาล เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
             ๓๕. ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจค้นพาหนะในการรับ-ส่งผู้ต้องขังไปศาลอย่างละเอียด ทั้งไปและกลับ
             ๓๖. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของรถยนต์บรรทุกผู้ต้องขังก่อนการรับ-ส่ง หากเห็นว่ายังขาดความมั่นคงปลอดภัยให้ทำการปรับปรุงเพื่อให้มั่นคงปลอดภัยในการควบคุมผู้ต้องขัง
              .....
 เรือนจำ / ทัณฑสถานในเขตกรุงเทพมหานครและเรือนจำกลางบางขวาง  
              ๔๓.  หน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังไปศาล เป็นหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำพิเศษธนบุรี  และเรือนจำพิเศษมีนบุรี

ระเบียบ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้อง
-  หนังสือที่ ยธ ๐๗๐๕/ว ๗๕ ลง ๑๖ ธ.ค.๒๕๔๖  เรื่อง มาตรการในการควบคุมและการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาขังกรณีไปศาล และกรณีรับตัวเข้าใหม่
-  หนังสือที่ ยธ ๐๗๐๕.๑/๓๓๔๐๕ ลง ๓ พ.ย.๒๕๕๘  เรื่อง มาตรการควบคุมผู้ต้องขัง
-  ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๖ การควบคุม

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ระเบียบว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนการสอบสวนคดีคอมพิวเตอร์

ระเบียบว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
                อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
                ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบ ว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐”
                ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                ข้อ ๓  ในระเบียบนี้
                “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความถึง ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
                “พนักงานสอบสวน” หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                “การปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน” หมายความว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่และหรือพนักงานสอบสวนได้ให้ความเห็นหรือคำแนะนำ และหรือตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มการสอบสวนในคดี โดยให้เริ่มดำเนินการนับแต่โอกาสแรกเท่าที่จะพึงกระทำได้
                “การสอบสวนร่วมกัน” หมายความว่า การสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
                ข้อ ๔  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนเป็นผู้รับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตนหรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน และเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ใน หมวด ๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
               ข้อ ๕  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามข้อ ๔ แล้วให้พนักงานสอบสวนประสานงานกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบการกระทำความผิด
               ข้อ ๖  ในการจับ ควบคุม และค้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประสานมายังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
               ข้อ ๗  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน หมวด ๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้มีการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน และการสอบสวนร่วมกัน และมีหน้าที่ส่งมอบพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมดให้กับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จนกว่าการสอบสวนในคดีนั้นจะเสร็จสิ้น
                ข้อ ๘  เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำความเห็นในรายงานความเห็นทางคดี และลงลายมือชื่อ และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการในท้องที่ที่มีเขตอำนาจ เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
                ข้อ ๙  บรรดาการใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่และหรือพนักงานสอบสวน ได้ดำเนินการไปแล้วตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก่อนระเบียบนี้มีผลใช้บังคับให้ใช้ระเบียบนี้บังคับ
                                                  ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

               พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์                                                 โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
                       นายกรัฐมนตรี                                            รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน
                                                                  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร