วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๕๖

              มาตรา ๗  ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวน ไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหา จากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาล เข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                ในกรณีที่ไม่มีการจับ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ พร้อมกับสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติ จากที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาล เข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                 ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทัน ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วย หรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่า จะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ มาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
                  เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ ก็ต่อเมื่อ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานมาเบิกความประกอบ จนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วย หรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว
                 ผู้ต้องหาจะแต่งทนายความ เพื่อแถลงข้อคัดค้าน และซักถามพยานก็ได้
                 ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หากผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนต่อไปโดยเร็ว และถ้าการสอบสวนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป โดยให้นำมาตรา ๑๔๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ระยะเวลาการขอผัดฟ้องตามมาตรานี้ได้สิ้นสุดลง ในระหว่างที่ผู้ต้องหาหลบหนี และพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการอาจขออนุญาตฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุดตามมาตรา ๙ ไว้ก่อนก็ได้
                    (กฎหมายเดิม พนักงานอัยการถือว่า คดีที่มีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๒ เมื่อผู้ต้องหาหลบหนี หรือไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งพร้อมด้วยสำนวน พนักงานอัยการจึงไม่รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน และไม่ถือว่าเป็นคดีตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๑ แต่เมื่อกฎหมายแก้ไขใหม่ ให้นำมาตรา ๑๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนี ดังนั้น พนักงานอัยการจึงต้องรับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แม้ไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหามาพร้อมด้วยสำนวนก็ตาม)

              มาตรา ๘  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้นั้น การควบคุมตัวผู้ต้องหาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่ากำหนดเวลาดังกล่าวในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง มิได้
              ถ้าผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี นำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลพร้อมกับการยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง และขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ แต่ถ้าผู้ต้องหาป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่อาจนำมาศาลได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการขออนุญาตศาลรวมมาในคำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหา โดยมีพยานหลักฐานประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาลในเหตุที่ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหามาศาลได้ ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้อง ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องนั้น
              ในกรณีที่ผู้ต้องหาตกอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลในโอกาสแรกที่จะส่งได้เพื่อขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
              คำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาจะขอรวมมาในคำร้องขอผัดฟ้องก็ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามเดิมก็ได้ กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเกินกว่าเวลาที่กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้มิได้
             ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่พนักงานสอบสวนได้สั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังตามมาตรา ๑๓๔ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ และให้นำมาตรา ๗ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง แต่ถ้าการขอให้ออกหมายขังดังกล่าวกระทำภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาได้เท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
             บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งอำนาจของศาลที่จะสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว

             (ข้อพิจารณา -   เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา ๗๑ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้)

             มาตรา ๒๐  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการ หรือสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ ในกรณีที่ผู้ต้องหามิได้ถูกควบคุมตัว เพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องทำการสอบสวน และให้ฟ้องด้วยวาจา  ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่า จะให้การประการใด และถ้าผู้ต้องหายังให้การรับสารภาพ ให้ศาลบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ และทำคำพิพากษาในบันทึกฉบับเดียวกัน แล้วให้โจทก์จำเลยลงชื่อไว้ในบันทึกนั้น ถ้าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ให้ศาลสั่งให้พนักงานอัยการรับตัวผู้ต้องหาคืน เพื่อดำเนินการต่อไป