ขั้นตอนดำเนินการ
1. นัดนายประกันให้นำผู้ต้องหามาพบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง2. ก่อนส่งสำนวนให้แจ้งผู้ประกันทราบว่าจะให้นำผู้ต้องหามาพบเมื่อใด โดยให้ผู้ประกันทราบวันนัดก่อนพอสมควร
3. หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งมอบได้ ให้แจ้งให้ทราบว่าผิดสัญญาประกัน ให้นำเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญาประกันมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และลงรายงานประจำวันให้ผู้ประกันลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน
4. หากผู้ประกันไม่มาพบ ก็ให้ลงรายงานประจำวันว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน แล้วแจ้งเป็นหนังสือให้ทราบว่าผิดสัญญาประกันแล้ว และให้นำเงินค่าปรับมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
5. เมื่อครบกำหนด ยังไม่นำเงินมาชำระค่าปรับ ให้ทำหนังสือรายงาน หน.สภ. ทราบ
6. ทำหนังสือถึงพนักงานอัยการขอทราบค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีแพ่ง
7. หน.สภ. ทำหนังสือถึง ผบก.ภ.จว. เสนอตามลำดับชั้นไปจนถึง ตร. เพื่อขออนุมัติฟ้องผู้ประกัน
8. เมื่อได้รับการอนุมัติ ให้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังอัยการจังหวัดคดีศาลแขวง หรืออัยการจังหวัด (แล้วแต่ทุนทรัพย์ว่าเกิน 300,000 บาท หรือไม่) โดยแจ้งชื่อพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเป็นผู้ประสานงาน
9. เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง ได้แก่
- สัญญาประกันและบันทึกเสนอสัญญาประกันฉบับจริง
- หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน
- สำเนารายงานประจำวัน ดังนี้
(1) วันจับกุมผู้ต้องหา
(2) วันปล่อยชั่วคราว
(3) วันที่ผู้ประกันรับทราบกำหนดวันส่งตัวผู้ต้องหา (ถ้ามี)
(4) วันแจ้งให้ผู้ประกันทราบว่าผิดสัญญาประกันและให้นำเงินค่าปรับ
- สำเนาหนังสือแจ้งผู้ประกันว่าผิดสัญญาประกันและให้นำเงินมาชำระ พร้อมใบตอบรับทางไปรษณีย์ (ถ้ามี)
- ใบแต่งทนาย จำนวน 2 ฉบับ ให้ หน.สภ. คนปัจจุบันเป็นผู้ลงชื่อในคำฟ้อง
- สำเนาคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง หน.สภ. ทั้งคนที่ให้ประกัน และคนปัจจุบัน (กรณีไม่ใช่คนเดียวกัน)
- สำเนาคำสั่งแต่งตั้งของพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และนายตำรวจผู้ประสานงานกับพนักงานอัยการ
- สำเนาหมายจับผู้ต้องหา
10. แจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบทุกระยะ 60 วัน
11. นำเงินค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีส่งให้พนักงานอัยการ โดยเบิกจาก ภ.จว.
12. เจ้าหน้าที่การเงินของพนักงานอัยการ ออกใบเสร็จรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน
13. ไปเบิกความตามนัด และทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดี
14. ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลย(ผู้ประกัน)ชำระหนี้ กรณีที่จำเลยไม่มาศาลเลย พงส.ต้องมีคำร้องขอให้ศาลส่งคำพิพากษาให้จำเลยตามภูมิลำเนา เพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา
15. เมื่อครบกำหนดในคำพิพากษาแล้ว จำเลยเพิกเฉย พงส.ต้องเขียนคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี
16. เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว พงส.ต้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการต่อไป
17. หน.สภ. ตั้งคณะกรรมการสืบหาหลักทรัพย์ และต้องรายงานความคืบหน้าในการสืบหาหลักทรัพย์ให้ ตร.ทราบทุก 6 เดือน และนำ จพง.บังคับคดีไปยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด การบังคับคดีมีอายุความ 10 ปี