วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกัน

ขั้นตอนดำเนินการ
             1. นัดนายประกันให้นำผู้ต้องหามาพบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
             2. ก่อนส่งสำนวนให้แจ้งผู้ประกันทราบว่าจะให้นำผู้ต้องหามาพบเมื่อใด โดยให้ผู้ประกันทราบวันนัดก่อนพอสมควร
             3. หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งมอบได้ ให้แจ้งให้ทราบว่าผิดสัญญาประกัน ให้นำเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญาประกันมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และลงรายงานประจำวันให้ผู้ประกันลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน
             4. หากผู้ประกันไม่มาพบ ก็ให้ลงรายงานประจำวันว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน แล้วแจ้งเป็นหนังสือให้ทราบว่าผิดสัญญาประกันแล้ว และให้นำเงินค่าปรับมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
             5. เมื่อครบกำหนด ยังไม่นำเงินมาชำระค่าปรับ ให้ทำหนังสือรายงาน หน.สภ. ทราบ
             6. ทำหนังสือถึงพนักงานอัยการขอทราบค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีแพ่ง
             7. หน.สภ. ทำหนังสือถึง ผบก.ภ.จว. เสนอตามลำดับชั้นไปจนถึง ตร. เพื่อขออนุมัติฟ้องผู้ประกัน
             8. เมื่อได้รับการอนุมัติ ให้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังอัยการจังหวัดคดีศาลแขวง หรืออัยการจังหวัด (แล้วแต่ทุนทรัพย์ว่าเกิน 300,000 บาท หรือไม่) โดยแจ้งชื่อพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเป็นผู้ประสานงาน
             9. เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง ได้แก่
                 -  สัญญาประกันและบันทึกเสนอสัญญาประกันฉบับจริง
                 -  หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน
                 -  สำเนารายงานประจำวัน ดังนี้
                     (1) วันจับกุมผู้ต้องหา
                     (2) วันปล่อยชั่วคราว
                     (3) วันที่ผู้ประกันรับทราบกำหนดวันส่งตัวผู้ต้องหา (ถ้ามี)
                     (4) วันแจ้งให้ผู้ประกันทราบว่าผิดสัญญาประกันและให้นำเงินค่าปรับ
                 -  สำเนาหนังสือแจ้งผู้ประกันว่าผิดสัญญาประกันและให้นำเงินมาชำระ พร้อมใบตอบรับทางไปรษณีย์   (ถ้ามี)
                 - ใบแต่งทนาย จำนวน 2 ฉบับ ให้ หน.สภ. คนปัจจุบันเป็นผู้ลงชื่อในคำฟ้อง
                 -  สำเนาคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง หน.สภ. ทั้งคนที่ให้ประกัน และคนปัจจุบัน (กรณีไม่ใช่คนเดียวกัน)
                 -  สำเนาคำสั่งแต่งตั้งของพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และนายตำรวจผู้ประสานงานกับพนักงานอัยการ
                 -  สำเนาหมายจับผู้ต้องหา
           10.  แจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบทุกระยะ 60 วัน
           11. นำเงินค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีส่งให้พนักงานอัยการ โดยเบิกจาก ภ.จว.
           12. เจ้าหน้าที่การเงินของพนักงานอัยการ ออกใบเสร็จรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน
           13. ไปเบิกความตามนัด และทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดี
           14. ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลย(ผู้ประกัน)ชำระหนี้ กรณีที่จำเลยไม่มาศาลเลย พงส.ต้องมีคำร้องขอให้ศาลส่งคำพิพากษาให้จำเลยตามภูมิลำเนา เพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา
           15. เมื่อครบกำหนดในคำพิพากษาแล้ว จำเลยเพิกเฉย พงส.ต้องเขียนคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี
           16. เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว พงส.ต้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการต่อไป
           17. หน.สภ. ตั้งคณะกรรมการสืบหาหลักทรัพย์ และต้องรายงานความคืบหน้าในการสืบหาหลักทรัพย์ให้ ตร.ทราบทุก 6 เดือน และนำ จพง.บังคับคดีไปยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด การบังคับคดีมีอายุความ 10 ปี

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ระยะเวลาผัดฟ้อง ฝากขัง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              "มาตรา ๘๗   ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
                ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
                ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
                ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน
                ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปีหรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
                ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน"


พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๕๖
              "มาตรา ๗  ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                 ในกรณีที่ไม่มีการจับแต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมกับสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
               เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวันแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว"

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กรณีถูกคุมขังโดยมิชอบ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๙๐  เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอํานาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ
                        (๑) ผู้ถูกคุมขังเอง
                        (๒) พนักงานอัยการ
                        (๓) พนักงานสอบสวน
                        (๔) ผู้บัญชาการเรือนจําหรือพัศดี
                        (๕) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
                        เมื่อได้รับคําร้องดั่งนั้น ให้ศาลดําเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคําร้องนั้นมีมูล ศาลมีอํานาจสั่งผู้คุมขังให้นําตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

คำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖  
                        เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใด ต้องถูกคุมขังในคดีอาญา หรือกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบได้
                        กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มีการคุมขังผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ หรือบุคคลใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งหัวหน้าหน่วยงานทราบ และให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้าหน่วยงานที่จะต้องพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการ หรือมอบหมายให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๕/๒๔๙๑
                  พนักงานสอบสวนหรืออัยการ ขอให้ศาลขังจำเลยระหว่างสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ จนครบกำหนด และศาลปล่อยตัวจำเลยไปแล้วเช่นนี้ จะมาขอให้ศาลสั่งขังอีกย่อมไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยใหม่เพื่อฟ้องเป็นคดีจะควบคุมผู้ต้องหาไม่ได้เสียเลย เจ้าพนักงานยังคงควบคุมผู้ต้องหาได้ตามที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีตามตอนต้นแห่งมาตรา ๘๗ คือ เพียงเท่าที่จะนำตัวจำเลยมาส่งศาลโดยแท้เท่านั้น จะควบคุมเพื่อเหตุอื่น เช่น สอบสวนต่อไป หรือรออัยการสั่งฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๖/๒๔๘๙
                 อัยการฟ้องขอให้ศาลออกหมายจับจำเลย โดยอ้างว่า จำเลยถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนครบกำหนดจนศาลสั่งปล่อยตัวไปแล้ว เช่นนี้ ไม่ชอบที่ศาลจะรับประทับฟ้องและออกหมายจับให้ เพราะเจ้าพนักงานยังมีอำนาจที่จะดำเนินการเพื่อเอาตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ มิฉะนั้น จะเป็นการยืดอายุความอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย

นายประกันขอให้จับผู้ต้องหาหลบหนี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
             "มาตรา ๗๘   พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ ...
                  (๔)  เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างปล่อยชั่วคราวตามมาตรา ๑๑๗"
             "มาตรา ๑๑๗   เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลที่ทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น"
             (ความเห็น.– พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับผู้ต้องหา หรือจำเลยได้ เมื่อหนี หรือจะหลบหนี โดยไม่มีหมายจับ หรือคำสั่งของศาล รวมถึงได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนายประกันที่อยู่ใกล้เคียงให้จับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น
             -  นายประกันมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีได้เอง โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลเช่นกัน แต่ต้องส่งไปยัง พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานรีบจัดส่งไปยังเจ้าพนักงานหรือศาลทันที
กรณีเป็นเวลาที่ศาลปิดทำการ  ให้ดำเนินการดังนี้
            "มาตรา ๘๔/๑   พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งนั้น จะปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการจับโดยมีหมายของศาลให้รีบดำเนินการตามมาตรา ๖๔ และในกรณีที่ต้องส่งผู้ถูกจับไปยังศาล แต่ไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ”
            (ความเห็น.- เวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการไม่อาจส่งผู้ถูกจับไปยังศาลได้ ตำรวจมีอำนาจปล่อยชั่วคราว หรือควบคุมไว้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ แล้วรีบจัดส่งไปยังศาลทันที)