ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๙๐ เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอํานาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ(๑) ผู้ถูกคุมขังเอง
(๒) พนักงานอัยการ
(๓) พนักงานสอบสวน
(๔) ผู้บัญชาการเรือนจําหรือพัศดี
(๕) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
เมื่อได้รับคําร้องดั่งนั้น ให้ศาลดําเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคําร้องนั้นมีมูล ศาลมีอํานาจสั่งผู้คุมขังให้นําตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที
คำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖
เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใด ต้องถูกคุมขังในคดีอาญา หรือกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบได้กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มีการคุมขังผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ หรือบุคคลใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งหัวหน้าหน่วยงานทราบ และให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้าหน่วยงานที่จะต้องพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการ หรือมอบหมายให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๕/๒๔๙๑
พนักงานสอบสวนหรืออัยการ ขอให้ศาลขังจำเลยระหว่างสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ จนครบกำหนด และศาลปล่อยตัวจำเลยไปแล้วเช่นนี้ จะมาขอให้ศาลสั่งขังอีกย่อมไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยใหม่เพื่อฟ้องเป็นคดีจะควบคุมผู้ต้องหาไม่ได้เสียเลย เจ้าพนักงานยังคงควบคุมผู้ต้องหาได้ตามที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีตามตอนต้นแห่งมาตรา ๘๗ คือ เพียงเท่าที่จะนำตัวจำเลยมาส่งศาลโดยแท้เท่านั้น จะควบคุมเพื่อเหตุอื่น เช่น สอบสวนต่อไป หรือรออัยการสั่งฟ้องไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๖/๒๔๘๙
อัยการฟ้องขอให้ศาลออกหมายจับจำเลย โดยอ้างว่า จำเลยถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนครบกำหนดจนศาลสั่งปล่อยตัวไปแล้ว เช่นนี้ ไม่ชอบที่ศาลจะรับประทับฟ้องและออกหมายจับให้ เพราะเจ้าพนักงานยังมีอำนาจที่จะดำเนินการเพื่อเอาตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ มิฉะนั้น จะเป็นการยืดอายุความอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย