ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
"มาตรา ๑๓๔ เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทําผิดตามข้อหานั้น
ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้
เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา ๗๑ พนักงานสอบสวนมีอํานาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิด หรือใกล้จะปิดทําการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทําการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอํานาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอํานาจปล่อยชั่วคราว หรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น"
ข้อพิจารณา.- การแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดตาม ม.๑๓๔ วรรคหนึ่ง เป็นบทบังคับเด็ดขาด หากพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทราบก่อนแจ้งข้อหา ย่อมเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา ๑๒๐
- ในการแจ้งข้อหา กรณีมีคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ แต่ยังไม่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิด หากผู้นั้นมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลยพินิจไม่แจ้งข้อหาแก้ผู้นั้นได้
- กรณีที่ผู้ต้องหามาอยู่ต่อหน้า ถ้าไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลยพินิจที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมหรือไม่ควบคุมผู้ต้องหาก็ได้ กล่าวคือ
วิธีแรก เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี(หรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัว) หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น พนักงานสอบสวนสามารถสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที เว้นแต่ เป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ พนักงานสอบสวนจะต้องสั่งให้ผู้ต้องหาไปยังศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ โดยไม่สามารถสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในวันอื่นได้ ซึ่งศาลก็จะพิจารณาสั่งขังตามมาตรา ๘๗ ต่อไป
วิธีที่สอง พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ไม่มีการควบคุม และไม่มีการขออำนาจศาลออกหมายขัง แต่พนักงานสอบสวนจะนัดให้ผู้ต้องหามาพบอีกครั้ง เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการต่อไปตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๒ วรรคสาม
มาตรา ๗๑ เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจําเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจําเลยไว้ตามมาตรา ๘๗ หรือมาตรา ๘๘ ก็ได้ และให้นําบทบัญญัติในมาตรา ๖๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘๗ ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจําเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ฯลฯ
มาตรา ๖๖ เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(๒) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้น ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัว ให้สันนิษฐานว่า บุคคลนั้นจะหลบหนี
- กรณีมีการจับผู้ต้องหาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดซึ่งหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ แต่เมื่อมีเจ้าพนักงานผู้จับนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนพร้อมด้วยบันทึกการจับกุมแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังได้ตาม มาตรา ๑๓๔ วรรคห้า เพราะการจับผู้ต้องหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือได้ว่า ผู้ต้องหานั้นไม่ใช่ผู้ถูกจับและไม่ใช่ผู้ถูกควบคุม ทั้งยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่มีเหตุที่จะออกหมายขังตามมาตรา ๗๑ และมาตรา ๖๖ (๒) ได้
- กรณีผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ไปศาลในวันที่ศาลเปิดทำการ พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับ โดยกฎหมายให้ถือว่าเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วน และมีอํานาจปล่อยชั่วคราว หรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น ทั้งนี้ ควรจะต้องมีหลักฐานว่าผู้ต้องหารับทราบวันนัดนั้นด้วย
- อำนาจจับกุมตามมาตรา ๗๘ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจจับกุมในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจด้วยเช่นกัน กรณีมีหมายจับ หรือจับตามข้อยกเว้น เช่น เหตุซึ่งหน้า น่าจะก่อเหตุร้าย มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอหมายจับได้ทัน หรือจับผู้ต้องหาที่หนีหรือจะหนีในระหว่างปล่อยชั่วคราว (คลิกที่นี่)