วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ออกหมายค้นโดยไม่มีหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  270/2543
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 238, 264
ป.วิ.อ. มาตรา 69, 94, 105
             ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกหมายค้นบ้านของผู้คัดค้าน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออก โดยอ้างว่าบ้านดังกล่าวมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัท ด. ปลอม ซุกซ่อนอยู่โดยผิดกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนการขอออกหมายค้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้การค้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทำการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามกฎหมาย อันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อศาลออกหมายค้นและเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่พบของผิดกฎหมาย กระบวนการในการขอออกหมายค้น การออกหมายค้นรวมทั้งอำนาจในการปฏิบัติตามหมายค้นได้เสร็จสิ้นยุติไปแล้ว การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็นที่มาในการขอออกหมายค้น ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องไว้นั้น จึงไม่เกิดประโยชน์แก่การป้องกันการตรวจค้นโดยปราศจากเหตุสมควรตามกฎหมายเพราะการตรวจค้นได้ยุติไปแล้ว ถ้าผู้คัดค้านติดใจสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐานและเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้คัดค้านสามารถเรียกร้องความยุติธรรมจากศาลได้โดยการฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมเป็นให้งดไต่สวนได้ไม่ถือว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม
              คำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าศาลจะนำเอามาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับในการออกหมายค้นไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ทั้งที่รูปคดียังไม่มีปัญหาที่ศาลจะใช้บทบัญญัติมาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับแก่คดีแต่ประการใด จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264

วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

การกำหนดวงเงินประกันในชั้นสอบสวน

คำสั่ง ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
            -  คำสั่ง ตร. ที่ ๘๐/๒๕๕๑ ลง ๓๐ ม.ค.๒๕๕๑ เรื่องการกำหนดวงเงินประกัน การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกันและการใช้บุคคลเป็นประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
           -  ป.วิ.อ. มาตรา ๑๑๐ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.วิ.อ. (ฉ.๒๒) พ.ศ.๒๕๔๗
           -  กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พ.ศ.๒๕๔๙
          -  ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๘
 การกำหนดวงเงินประกันในชั้นสอบสวน
           ๑.  คดีความผิดลหุโทษหรือที่มีโทษปรับสถานเดียว
                 = ไม่เกินร้อยละ ๓๗.๕ ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น
          ๒.  คดีความผิดที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอัตราโทษปรับสูง ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม
                = ไม่ควรเกินร้อยละ ๓๗.๕ ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น และไม่ว่ากรณีใดต้องไม่เกินอัตราโทษปรับขั้นสูง
          ๓.  คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ไม่เกิน ๕ ปี
                 = ไม่เกิน ๗๕,๐๐๐ บาท
          ๔.  คดีที่มีอัตราโทษจำคุก เกิน ๕ ปี แต่ไม่มีโทษสถานอื่นที่หนักกว่าโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย
                = ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท / ระวางโทษจำคุก ๑ ปี (ทั้งในส่วนที่เป็นอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำ)
          ๕.  คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต
                = ไม่เกิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท
          ๖.  คดีที่มีโทษประหารชีวิต
                = ไม่เกิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท
          ๗.  คดีที่มีหลายข้อหา  (๑) ความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท  (๒) ความผิดหลายกรรมต่างกัน
                =  ให้ถือข้อหาที่มีอัตราโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์
          ๘.  กรณี
                (๑)  ผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส   หรือ
               (๒)  ผู้ขอประกันใช้หลักทรัพย์ที่มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดี   หรือ
               (๓)  ความผิดที่ผู้ต้องหากระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน
                    = จะกำหนดวงเงินประกันต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้
          ๙.  ผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส ใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์ที่มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน
                  = ให้วางเงินสดหรือหลักทรัพย์เพียงร้อยละ ๒๐ จากจำนวนวงเงินประกันที่กำหนดก็ได้
          ๑๐. กรณีผู้ต้องหา
                 (๑)  เป็นหญิงมีครรภ์ หรือ
                 (๒)  มีบุตรอายุไม่เกิน ๓ ปี อยู่ในความดูแล หรือ
                 (๓)  เป็นผู้เจ็บป่วย ถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือ
                 (๔)  เป็นผู้พิการหรือสูงอายุ ซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจจะเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่างต้องขัง
                  = กำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
         ๑๑.  ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน
                  = ไม่ได้กำหนดไว้

การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกัน และเอกสารที่ต้องแสดง
           ๑.   เงินสด
           ๒.  ที่ดินมีโฉนด
                 = โฉนดที่ดิน  และ หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
           ๓.  ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์
                 = หนังสือรับรองการทำประโยชน์ และ หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
           ๔.  ห้องชุด
                 = หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และ  หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
           ๕.  ที่ดิน  และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน
                 = โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  และ สำเนาทะเบียนบ้าน  และ หนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างที่น่าเชื่อถือ
            ๖.  หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล , สลากออมสิน , บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร  , ใบรับเงินฝากประจำธนาคาร  , ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว , ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว , เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทำสัญญาประกัน  , หนังสือรับรองของธนาคาร หรือบริษัทประกันภัยเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
                  = เอกสารหลักฐานของหลักทรัพย์แต่ละประเภท อนึ่ง ในกรณีมีข้อสงสัยให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบเพื่อขอคำยืนยันจากธนาคารหรือบริษัทประกันภัย ที่ออกหนังสือรับรองนั้น    

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๕๖

              มาตรา ๗  ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวน ไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหา จากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาล เข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                ในกรณีที่ไม่มีการจับ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ พร้อมกับสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติ จากที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาล เข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                 ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทัน ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วย หรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่า จะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ มาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
                  เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ ก็ต่อเมื่อ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานมาเบิกความประกอบ จนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วย หรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว
                 ผู้ต้องหาจะแต่งทนายความ เพื่อแถลงข้อคัดค้าน และซักถามพยานก็ได้
                 ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หากผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนต่อไปโดยเร็ว และถ้าการสอบสวนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป โดยให้นำมาตรา ๑๔๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ระยะเวลาการขอผัดฟ้องตามมาตรานี้ได้สิ้นสุดลง ในระหว่างที่ผู้ต้องหาหลบหนี และพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการอาจขออนุญาตฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุดตามมาตรา ๙ ไว้ก่อนก็ได้
                    (กฎหมายเดิม พนักงานอัยการถือว่า คดีที่มีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๒ เมื่อผู้ต้องหาหลบหนี หรือไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งพร้อมด้วยสำนวน พนักงานอัยการจึงไม่รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน และไม่ถือว่าเป็นคดีตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๑ แต่เมื่อกฎหมายแก้ไขใหม่ ให้นำมาตรา ๑๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนี ดังนั้น พนักงานอัยการจึงต้องรับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แม้ไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหามาพร้อมด้วยสำนวนก็ตาม)

              มาตรา ๘  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้นั้น การควบคุมตัวผู้ต้องหาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่ากำหนดเวลาดังกล่าวในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง มิได้
              ถ้าผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี นำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลพร้อมกับการยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง และขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ แต่ถ้าผู้ต้องหาป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่อาจนำมาศาลได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการขออนุญาตศาลรวมมาในคำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหา โดยมีพยานหลักฐานประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาลในเหตุที่ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหามาศาลได้ ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้อง ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องนั้น
              ในกรณีที่ผู้ต้องหาตกอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลในโอกาสแรกที่จะส่งได้เพื่อขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
              คำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาจะขอรวมมาในคำร้องขอผัดฟ้องก็ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามเดิมก็ได้ กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเกินกว่าเวลาที่กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้มิได้
             ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่พนักงานสอบสวนได้สั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังตามมาตรา ๑๓๔ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ และให้นำมาตรา ๗ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง แต่ถ้าการขอให้ออกหมายขังดังกล่าวกระทำภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาได้เท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
             บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งอำนาจของศาลที่จะสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว

             (ข้อพิจารณา -   เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา ๗๑ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้)

             มาตรา ๒๐  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการ หรือสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ ในกรณีที่ผู้ต้องหามิได้ถูกควบคุมตัว เพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องทำการสอบสวน และให้ฟ้องด้วยวาจา  ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่า จะให้การประการใด และถ้าผู้ต้องหายังให้การรับสารภาพ ให้ศาลบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ และทำคำพิพากษาในบันทึกฉบับเดียวกัน แล้วให้โจทก์จำเลยลงชื่อไว้ในบันทึกนั้น ถ้าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ให้ศาลสั่งให้พนักงานอัยการรับตัวผู้ต้องหาคืน เพื่อดำเนินการต่อไป

วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกัน

ขั้นตอนดำเนินการ
             1. นัดนายประกันให้นำผู้ต้องหามาพบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
             2. ก่อนส่งสำนวนให้แจ้งผู้ประกันทราบว่าจะให้นำผู้ต้องหามาพบเมื่อใด โดยให้ผู้ประกันทราบวันนัดก่อนพอสมควร
             3. หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งมอบได้ ให้แจ้งให้ทราบว่าผิดสัญญาประกัน ให้นำเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญาประกันมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และลงรายงานประจำวันให้ผู้ประกันลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน
             4. หากผู้ประกันไม่มาพบ ก็ให้ลงรายงานประจำวันว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน แล้วแจ้งเป็นหนังสือให้ทราบว่าผิดสัญญาประกันแล้ว และให้นำเงินค่าปรับมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
             5. เมื่อครบกำหนด ยังไม่นำเงินมาชำระค่าปรับ ให้ทำหนังสือรายงาน หน.สภ. ทราบ
             6. ทำหนังสือถึงพนักงานอัยการขอทราบค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีแพ่ง
             7. หน.สภ. ทำหนังสือถึง ผบก.ภ.จว. เสนอตามลำดับชั้นไปจนถึง ตร. เพื่อขออนุมัติฟ้องผู้ประกัน
             8. เมื่อได้รับการอนุมัติ ให้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังอัยการจังหวัดคดีศาลแขวง หรืออัยการจังหวัด (แล้วแต่ทุนทรัพย์ว่าเกิน 300,000 บาท หรือไม่) โดยแจ้งชื่อพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเป็นผู้ประสานงาน
             9. เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง ได้แก่
                 -  สัญญาประกันและบันทึกเสนอสัญญาประกันฉบับจริง
                 -  หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน
                 -  สำเนารายงานประจำวัน ดังนี้
                     (1) วันจับกุมผู้ต้องหา
                     (2) วันปล่อยชั่วคราว
                     (3) วันที่ผู้ประกันรับทราบกำหนดวันส่งตัวผู้ต้องหา (ถ้ามี)
                     (4) วันแจ้งให้ผู้ประกันทราบว่าผิดสัญญาประกันและให้นำเงินค่าปรับ
                 -  สำเนาหนังสือแจ้งผู้ประกันว่าผิดสัญญาประกันและให้นำเงินมาชำระ พร้อมใบตอบรับทางไปรษณีย์   (ถ้ามี)
                 - ใบแต่งทนาย จำนวน 2 ฉบับ ให้ หน.สภ. คนปัจจุบันเป็นผู้ลงชื่อในคำฟ้อง
                 -  สำเนาคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง หน.สภ. ทั้งคนที่ให้ประกัน และคนปัจจุบัน (กรณีไม่ใช่คนเดียวกัน)
                 -  สำเนาคำสั่งแต่งตั้งของพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และนายตำรวจผู้ประสานงานกับพนักงานอัยการ
                 -  สำเนาหมายจับผู้ต้องหา
           10.  แจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบทุกระยะ 60 วัน
           11. นำเงินค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีส่งให้พนักงานอัยการ โดยเบิกจาก ภ.จว.
           12. เจ้าหน้าที่การเงินของพนักงานอัยการ ออกใบเสร็จรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน
           13. ไปเบิกความตามนัด และทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดี
           14. ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลย(ผู้ประกัน)ชำระหนี้ กรณีที่จำเลยไม่มาศาลเลย พงส.ต้องมีคำร้องขอให้ศาลส่งคำพิพากษาให้จำเลยตามภูมิลำเนา เพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา
           15. เมื่อครบกำหนดในคำพิพากษาแล้ว จำเลยเพิกเฉย พงส.ต้องเขียนคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี
           16. เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว พงส.ต้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการต่อไป
           17. หน.สภ. ตั้งคณะกรรมการสืบหาหลักทรัพย์ และต้องรายงานความคืบหน้าในการสืบหาหลักทรัพย์ให้ ตร.ทราบทุก 6 เดือน และนำ จพง.บังคับคดีไปยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด การบังคับคดีมีอายุความ 10 ปี

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ระยะเวลาผัดฟ้อง ฝากขัง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              "มาตรา ๘๗   ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
                ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
                ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
                ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน
                ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปีหรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
                ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน"


พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๕๖
              "มาตรา ๗  ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                 ในกรณีที่ไม่มีการจับแต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมกับสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
                ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
               เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวันแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว"

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กรณีถูกคุมขังโดยมิชอบ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๙๐  เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอํานาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ
                        (๑) ผู้ถูกคุมขังเอง
                        (๒) พนักงานอัยการ
                        (๓) พนักงานสอบสวน
                        (๔) ผู้บัญชาการเรือนจําหรือพัศดี
                        (๕) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
                        เมื่อได้รับคําร้องดั่งนั้น ให้ศาลดําเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคําร้องนั้นมีมูล ศาลมีอํานาจสั่งผู้คุมขังให้นําตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

คำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖  
                        เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใด ต้องถูกคุมขังในคดีอาญา หรือกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบได้
                        กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มีการคุมขังผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ หรือบุคคลใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งหัวหน้าหน่วยงานทราบ และให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้าหน่วยงานที่จะต้องพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการ หรือมอบหมายให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๕/๒๔๙๑
                  พนักงานสอบสวนหรืออัยการ ขอให้ศาลขังจำเลยระหว่างสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ จนครบกำหนด และศาลปล่อยตัวจำเลยไปแล้วเช่นนี้ จะมาขอให้ศาลสั่งขังอีกย่อมไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยใหม่เพื่อฟ้องเป็นคดีจะควบคุมผู้ต้องหาไม่ได้เสียเลย เจ้าพนักงานยังคงควบคุมผู้ต้องหาได้ตามที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีตามตอนต้นแห่งมาตรา ๘๗ คือ เพียงเท่าที่จะนำตัวจำเลยมาส่งศาลโดยแท้เท่านั้น จะควบคุมเพื่อเหตุอื่น เช่น สอบสวนต่อไป หรือรออัยการสั่งฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๖/๒๔๘๙
                 อัยการฟ้องขอให้ศาลออกหมายจับจำเลย โดยอ้างว่า จำเลยถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนครบกำหนดจนศาลสั่งปล่อยตัวไปแล้ว เช่นนี้ ไม่ชอบที่ศาลจะรับประทับฟ้องและออกหมายจับให้ เพราะเจ้าพนักงานยังมีอำนาจที่จะดำเนินการเพื่อเอาตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ มิฉะนั้น จะเป็นการยืดอายุความอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย

นายประกันขอให้จับผู้ต้องหาหลบหนี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
             "มาตรา ๗๘   พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ ...
                  (๔)  เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างปล่อยชั่วคราวตามมาตรา ๑๑๗"
             "มาตรา ๑๑๗   เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลที่ทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น"
             (ความเห็น.– พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับผู้ต้องหา หรือจำเลยได้ เมื่อหนี หรือจะหลบหนี โดยไม่มีหมายจับ หรือคำสั่งของศาล รวมถึงได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนายประกันที่อยู่ใกล้เคียงให้จับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น
             -  นายประกันมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีได้เอง โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลเช่นกัน แต่ต้องส่งไปยัง พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานรีบจัดส่งไปยังเจ้าพนักงานหรือศาลทันที
กรณีเป็นเวลาที่ศาลปิดทำการ  ให้ดำเนินการดังนี้
            "มาตรา ๘๔/๑   พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งนั้น จะปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการจับโดยมีหมายของศาลให้รีบดำเนินการตามมาตรา ๖๔ และในกรณีที่ต้องส่งผู้ถูกจับไปยังศาล แต่ไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ”
            (ความเห็น.- เวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการไม่อาจส่งผู้ถูกจับไปยังศาลได้ ตำรวจมีอำนาจปล่อยชั่วคราว หรือควบคุมไว้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ แล้วรีบจัดส่งไปยังศาลทันที)