วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ดุลยพินิจในการแจ้งข้อหาคดีป่าไม้ของพนักงานสอบสวน

              อุทาหรณ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ออกตรวจท้องที่บริเวณป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ มาถึงบ้านพักที่เกิดเหตุของผู้ต้องหา พบไม้หวงห้ามแปรรูป ปริมาตรเกิน ๐.๒๐ ลบ.ม. กองอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านของผู้ต้องหา จากการสอบถามผู้ต้องหาแล้วรับสารภาพว่าเป็นของตนเองที่ซื้อมาจากชาวบ้านและเก็บไว้เพื่อจะสร้างบ้าน โดยไม่มีรอยตราหรือดวงตราของเจ้าพนักงานตีประทับ และผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตให้มีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง
               เจ้าพนักงานป่าไม้ แจ้งข้อหาว่า "ทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกิน ๐.๒๐ ลบ.ม. และทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ"  ชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ
               ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุม
               ในชั้นตรวจสำนวนการสอบสวน พนักงานอัยการ เห็นว่า การกระทำผิดในข้อหา "ทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ" ต้องมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาได้มีการทำไม้ เช่น ร่องรอยการตัด ฟัน โค่น เลื่อย ชักลาก หรือนำไม้ออกจากป่า อันจะถือได้ว่าเป็นการทำไม้ตามกฎหมาย หากไม่ปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าว เพียงแต่พบว่า ไม้ของกลางถูกแปรรูปมาก่อนเรียบร้อยแล้วและวางอยู่ใต้ถุนบ้านเท่านั้น พยานหลักฐานย่อมไม่เพียงพอที่จะฟ้องข้อหาดังกล่าวได้ ย่อมฟ้องได้แต่เฉพาะข้อหา  "มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกิน ๐.๒๐ ลบ.ม." ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗ , ๔๗, ๔๘, ๗๓, ๗๔
              เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องบางข้อหา และสั่งไม่ฟ้องบางข้อหา ในข้อหาที่สั่งไม่ฟ้อง ในต่างจังหวัด(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ก็ต้องส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมด้วยความเห็นไปยัง ผบช. หรือ รอง ผบช. เพื่อพิจารณาต่อไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕/๑  เพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลง ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗

              ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              มาตรา ๑๓๔  "เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ
              การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น"
              มาตรา ๑๒๐  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน"
 
ข้อพิจารณา.- กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจในการแจ้งข้อหา ว่าจะต้องมีหลักฐานตามสมควร แม้ว่าผู้จับจะแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบมาก่อน แต่เมื่อส่งตัวมาให้พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาพยานหลักฐานว่ามีตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้นหรือไม่ แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ ถ้ามีการแจ้งข้อหาและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
               ตามอุทาหรณ์ พนักงานป่าไม้แจ้งข้อหาในชั้นจับกุมโดยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ เมื่อส่งตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานสอบสวนแล้ว ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เมื่อปรากฎเป็นที่ประจักษ์ชัดในเบื้องต้นแล้วว่า ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอตามสมควร ที่จะแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันกับผู้จับได้ ทุกข้อหาหรือบางข้อหา พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจแจ้งข้อหาที่มีพยานหลักฐานตามสมควร ให้แก่ผู้ต้องหาทราบและทำการสอบสวนเฉพาะข้อหานั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาทั้งหมดตามที่ผู้จับกุมได้แจ้งไว้ หากแต่ในชั้นสรุปสำนวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องมีความเห็นทางคดีในกรณีที่แจ้งข้อหาแตกต่างจากที่ผู้จับกุมด้วย

สิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา

             ขณะจับกุม เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งสิทธิให้ผู้จะถูกจับทราบ ตามมาตรา ๘๓ “ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่า เขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ  เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น  ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป // ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ // พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้  และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ // ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม ที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และไม่เป็นการขัดขวางการจับ หรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย // ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวาง หรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนี  ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธี หรือการป้องกันทั้งหลาย เท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น”
             เมื่อจับกุมแล้ว ไม่ว่าผู้จับเป็นเจ้าพนักงานหรือราษฎรก็ตาม ต้องนำตัวผู้ถูกจับมอบให้แก่พนักงานตำรวจของที่ทำการพนักงานสอบสวน โดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งรับมอบตัวต้องแจ้งสิทธิให้ทราบ ตามมาตรา ๘๔ “เจ้าพนักงาน หรือราษฎรผู้ทำการจับ ต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ โดยทันที  และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้  (๑) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ  ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟังและมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น  (๒) ในกรณีที่ราษฎรเป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญ เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบและแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ // เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง  แล้วให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่ง  แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗/๑ รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ ในโอกาสแรก เมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง  หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้ง ก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ ในการนี้มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกจับ // ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน  แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี”