คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2536
ป.อ. มาตรา 157, 161, 177
ป.วิ.พ. มาตรา 249
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 158 (5)
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการจับกุมโจทก์ มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุม ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้น โดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึกพร้อมทั้งให้โจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่า สอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจับกุมผู้กระทำความผิดได้จับกุมโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสาร แต่กรอกข้อความเพิ่มเติมลงในบันทึกจับกุมว่า สอบถามโจทก์แล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งที่ทราบว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะบันทึกการจับกุมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ศาลอาจฟังลงโทษโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความว่า "ข้าพเจ้าเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานและขอจับกุมโดยแสดงหมายจับให้จำเลยที่ 1 ดูด้วย ข้าพเจ้าแจ้งข้อหาจำเลยฐานปลอมเอกสารตามข้อความในหมายจับจำเลยให้การรับสารภาพ" ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าข้อที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ฟ้องโจทก์จึงขาดการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเท่าที่จะทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ได้
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตซักค้านพยาน อันเป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างขึ้นมาในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
หมายเหตุ.-
ปัญหาว่าการกระทำใดเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 หรือเป็นความผิดตามมาตรา 162 บางครั้งไม่ง่ายนักที่จะแยกความแตกต่างของบทบัญญัติ 2 มาตราดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสนในการปรับบทลงโทษไม่น้อย ข้อแตกต่างที่เห็นชัดจากองค์ประกอบความผิดตามตัวบทของ 2 มาตรานี้ อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้
มาตรา 161
1. เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ (1) ทำเอกสาร (2) กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือ (3) ดูแลรักษาเอกสาร
2. กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น
3. เจตนา
มาตรา 162
1. เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ (1) ทำเอกสาร (2) กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือ (3) รับเอกสาร
2. กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ (1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ (2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง (3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้นหรือ (4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
3. เจตนา
ข้อแตกต่างที่สำคัญ ที่ต้องแยกจากกันให้ได้คือ การกระทำใดถือว่าเป็นการปลอมเอกสารและการกระทำใดเป็นเพียงการรับรองเอกสารอันเป็นความเท็จแต่มิใช่เอกสารปลอม คำว่า "ปลอมเอกสาร" ในมาตรา 161 มิได้มีคำจำกัดความหรือบทนิยามให้ความหมายไว้โดยเฉพาะน่าจะต้องใช้หลักที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 กล่าวคือ การปลอมเอกสารอาจเป็น
1. การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือ
2. กระทำปลอมขึ้นแต่บางส่วน โดยวิธี
(1) เติมหรือตัดข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง
(2) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร หรือ
(3) กรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งผู้อื่นนั้น
การปลอมเอกสารต่างกับการทำปลอมซึ่งเงินตรา ดวงตรา รอยตราแสตมป์หรือตั๋ว ซึ่งต้องมีเงินตรา หรือสิ่งอื่นดังกล่าวที่เป็นของแท้จริงอยู่ แต่เอกสารที่ทำปลอมขึ้นไม่จำต้องมีเอกสารตัวจริงหรือเอกสารที่แท้จริงอยู่ในขณะที่ทำปลอม ผู้ใดทำเอกสารขึ้นมาโดยเจ้าของเอกสารมิได้ให้อำนาจให้ทำหรือมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยไม่ว่าจะมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ในขณะทำเอกสารนั้นหรือไม่ และไม่ว่าข้อความในเอกสารนั้นจะเป็นความเท็จหรือเป็นความจริง เอกสารที่ทำขึ้นก็เป็นเอกสารปลอมทั้งสิ้น หากเจ้าของเอกสารทำเอกสารนั้นขึ้นเอง แต่ข้อความในเอกสารเป็นความเท็จไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเอกสารนั้นยังคงถือว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงมิใช่เอกสารปลอม เหตุนี้จึงเป็นข้อชี้หรือจุดแยกความแตกต่างระหว่างเอกสารปลอมกับเอกสารซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จได้ประการหนึ่ง เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2526 จำเลยเป็นปลัดเทศบาลและเป็นเลขานุการสภาเทศบาล จำเลยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาเทศบาลจึงแต่งตั้งให้ ส. รองปลัดเทศบาลทำหน้าที่เลขานุการสภาเทศบาลแทนจำเลย จำเลยได้ใช้ให้ พ. แก้ไขรายงานการประชุมที่ ส. ทำขึ้น โดยจำเลยไม่มีอำนาจแก้ไขได้โดยพลการ เพื่อจะให้ผู้เกี่ยวข้องหลงเชื่อว่าสภาเทศบาลมีมติตามที่จำเลยได้แก้ไขโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบด้วยมาตรา 84 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารดังกล่าว จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 161 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำเอกสารปลอมนั้นไปอ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัดจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามมาตรา 268 อีกกระทงหนึ่ง
มีข้อพิจารณาอีกว่า หากเอกสารที่ทำขึ้นเป็นเอกสารที่แท้จริงของผู้ทำเอกสาร และผู้ทำเอกสารนั้นเองได้แก้ไข เพิ่มเติม หรือตัดทอนข้อความในเอกสารนั้นให้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ดังนี้ จะถือว่าผู้นั้นทำเอกสารปลอมขึ้นแต่บางส่วนโดยวิธีดังกล่าวในเอกสารที่แท้จริงหรือไม่ ข้อนี้คงไม่อาจด่วนตอบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปลอมเอกสารแล้ว น่าจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปว่าการแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนข้อความในเอกสารนั้น ผู้กระทำหมดอำนาจที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ด้วย เพราะหากผู้กระทำยังมีอำนาจที่จะทำได้ เอกสารนั้นก็จะยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริงของผู้ทำเอกสารอยู่ เจ้าของเอกสารจึงสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ หรือแม้จะถึงขนาดทำลายเอกสารนั้นเสียเลยก็ไม่มีอะไรห้าม เช่น
นาย ก. ทำพินัยกรรมขึ้นมาฉบับหนึ่งยกทรัพย์สินทั้งหมดของตนให้นาย ข. แล้วเก็บพินัยกรรมฉบับนั้นไว้ต่อมานาย ข. ประพฤติตนไม่เหมาะสม นาย ก. จึงเปลี่ยนใจไม่ยกทรัพย์สินให้แต่กลับยกให้นาง ค. โดยแก้ไขพินัยกรรมฉบับนั้นจากชื่อนาย ข. ผู้รับพินัยกรรมเป็นชื่อนาง ค. หากนาย ก.แก้ไขพินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับดังกล่าวถูกต้องตามแบบพินัยกรรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 1657 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ นาย ก. แก้ไขด้วยลายมือตนเองและลงลายมือชื่อกำกับไว้ พินัยกรรมฉบับนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ใช่พินัยกรรมปลอม
ถ้าหากผู้ทำเอกสารนั้นหมดอำนาจที่จะแก้ไขเอกสารนั้นแล้วยังไปแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ผู้กระทำอาจมีความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ได้ หากการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว และแม้ข้อความที่แก้ไขนั้นจะเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 162
กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2536 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมโจทก์ มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุม ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้นโดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึก พร้อมทั้งโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วหมดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นได้ต่อไป การที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่าสอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาซึ่งไม่เป็นความจริงจึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริงโดยปราศจากอำนาจ ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหายินยอมให้เติมข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่แล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้จึงมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2526 ดังกล่าวข้างต้น เพราะข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จำเลยมีหน้าที่ทำรายงานการประชุมและลงลายมือชื่อตนเองเป็นผู้ทำ ได้เขียนรายงานการประชุมเป็นความเท็จแต่แรก มิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมภายหลังการกระทำของจำเลย จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารนั้นมุ่งรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 หากคดีที่บันทึกนี้ จำเลยที่ 1 เขียนในบันทึกการจับกุมตั้งแต่แรกก่อนลงลายมือชื่อของตนว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาอันเป็นความเท็จ แล้วจึงลงลายมือชื่อตนและให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อ กรณีนี้คงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้งและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามมาตรา 162 มิใช่การทำเอกสารปลอมโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ตามมาตรา 161 เพราะบันทึกการจับกุมนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 ที่ทำขึ้นเอง
มีข้อที่น่าสังเกตตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2536 อีกประการหนึ่งคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 162 มิใช่บทเฉพาะของบทบัญญัติ มาตรา 157 กล่าวคือ เมื่อการกระทำใดเป็นความผิดตามมาตรา 161 หรือ 162 แล้วมิได้หมายความว่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 157 อีกไม่ได้ หากการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วย ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังนั้น ศาลฎีกาจึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 161 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ก่อนคดีนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392-4393/2531 วินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้แล้ว
แต่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่น เช่น มาตรา 147,148 และ 149 หากการกระทำใดเป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าวแล้วแม้จะครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วย แต่มาตรา 157 เป็นบททั่วไป ส่วนมาตราดังกล่าวเป็นบทเฉพาะ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2511)
ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ บทบัญญัติมาตรา 195 และ 225 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้เฉพาะในเรื่องข้อกฎหมายว่า ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงจะฎีกาได้เว้นแต่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยฎีกา ผู้ฎีกายกขึ้นอ้างได้แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่บทมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงการฎีกาในข้อเท็จจริงด้วยว่าต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองหรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งส่งผลให้การฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างต้องห้ามมิให้ฎีกาด้วย
"ปริญญา ดีผดุง".
ป.อ. มาตรา 157, 161, 177
ป.วิ.พ. มาตรา 249
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 158 (5)
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการจับกุมโจทก์ มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุม ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้น โดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึกพร้อมทั้งให้โจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่า สอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจับกุมผู้กระทำความผิดได้จับกุมโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสาร แต่กรอกข้อความเพิ่มเติมลงในบันทึกจับกุมว่า สอบถามโจทก์แล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งที่ทราบว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะบันทึกการจับกุมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ศาลอาจฟังลงโทษโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความว่า "ข้าพเจ้าเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานและขอจับกุมโดยแสดงหมายจับให้จำเลยที่ 1 ดูด้วย ข้าพเจ้าแจ้งข้อหาจำเลยฐานปลอมเอกสารตามข้อความในหมายจับจำเลยให้การรับสารภาพ" ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าข้อที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ฟ้องโจทก์จึงขาดการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเท่าที่จะทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ได้
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตซักค้านพยาน อันเป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างขึ้นมาในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
หมายเหตุ.-
ปัญหาว่าการกระทำใดเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 หรือเป็นความผิดตามมาตรา 162 บางครั้งไม่ง่ายนักที่จะแยกความแตกต่างของบทบัญญัติ 2 มาตราดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสนในการปรับบทลงโทษไม่น้อย ข้อแตกต่างที่เห็นชัดจากองค์ประกอบความผิดตามตัวบทของ 2 มาตรานี้ อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้
มาตรา 161
1. เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ (1) ทำเอกสาร (2) กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือ (3) ดูแลรักษาเอกสาร
2. กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น
3. เจตนา
มาตรา 162
1. เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ (1) ทำเอกสาร (2) กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือ (3) รับเอกสาร
2. กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ (1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ (2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง (3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้นหรือ (4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
3. เจตนา
ข้อแตกต่างที่สำคัญ ที่ต้องแยกจากกันให้ได้คือ การกระทำใดถือว่าเป็นการปลอมเอกสารและการกระทำใดเป็นเพียงการรับรองเอกสารอันเป็นความเท็จแต่มิใช่เอกสารปลอม คำว่า "ปลอมเอกสาร" ในมาตรา 161 มิได้มีคำจำกัดความหรือบทนิยามให้ความหมายไว้โดยเฉพาะน่าจะต้องใช้หลักที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 กล่าวคือ การปลอมเอกสารอาจเป็น
1. การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือ
2. กระทำปลอมขึ้นแต่บางส่วน โดยวิธี
(1) เติมหรือตัดข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง
(2) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร หรือ
(3) กรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งผู้อื่นนั้น
การปลอมเอกสารต่างกับการทำปลอมซึ่งเงินตรา ดวงตรา รอยตราแสตมป์หรือตั๋ว ซึ่งต้องมีเงินตรา หรือสิ่งอื่นดังกล่าวที่เป็นของแท้จริงอยู่ แต่เอกสารที่ทำปลอมขึ้นไม่จำต้องมีเอกสารตัวจริงหรือเอกสารที่แท้จริงอยู่ในขณะที่ทำปลอม ผู้ใดทำเอกสารขึ้นมาโดยเจ้าของเอกสารมิได้ให้อำนาจให้ทำหรือมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยไม่ว่าจะมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ในขณะทำเอกสารนั้นหรือไม่ และไม่ว่าข้อความในเอกสารนั้นจะเป็นความเท็จหรือเป็นความจริง เอกสารที่ทำขึ้นก็เป็นเอกสารปลอมทั้งสิ้น หากเจ้าของเอกสารทำเอกสารนั้นขึ้นเอง แต่ข้อความในเอกสารเป็นความเท็จไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเอกสารนั้นยังคงถือว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงมิใช่เอกสารปลอม เหตุนี้จึงเป็นข้อชี้หรือจุดแยกความแตกต่างระหว่างเอกสารปลอมกับเอกสารซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จได้ประการหนึ่ง เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2526 จำเลยเป็นปลัดเทศบาลและเป็นเลขานุการสภาเทศบาล จำเลยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาเทศบาลจึงแต่งตั้งให้ ส. รองปลัดเทศบาลทำหน้าที่เลขานุการสภาเทศบาลแทนจำเลย จำเลยได้ใช้ให้ พ. แก้ไขรายงานการประชุมที่ ส. ทำขึ้น โดยจำเลยไม่มีอำนาจแก้ไขได้โดยพลการ เพื่อจะให้ผู้เกี่ยวข้องหลงเชื่อว่าสภาเทศบาลมีมติตามที่จำเลยได้แก้ไขโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบด้วยมาตรา 84 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารดังกล่าว จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 161 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำเอกสารปลอมนั้นไปอ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัดจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามมาตรา 268 อีกกระทงหนึ่ง
มีข้อพิจารณาอีกว่า หากเอกสารที่ทำขึ้นเป็นเอกสารที่แท้จริงของผู้ทำเอกสาร และผู้ทำเอกสารนั้นเองได้แก้ไข เพิ่มเติม หรือตัดทอนข้อความในเอกสารนั้นให้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ดังนี้ จะถือว่าผู้นั้นทำเอกสารปลอมขึ้นแต่บางส่วนโดยวิธีดังกล่าวในเอกสารที่แท้จริงหรือไม่ ข้อนี้คงไม่อาจด่วนตอบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปลอมเอกสารแล้ว น่าจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปว่าการแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนข้อความในเอกสารนั้น ผู้กระทำหมดอำนาจที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ด้วย เพราะหากผู้กระทำยังมีอำนาจที่จะทำได้ เอกสารนั้นก็จะยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริงของผู้ทำเอกสารอยู่ เจ้าของเอกสารจึงสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ หรือแม้จะถึงขนาดทำลายเอกสารนั้นเสียเลยก็ไม่มีอะไรห้าม เช่น
นาย ก. ทำพินัยกรรมขึ้นมาฉบับหนึ่งยกทรัพย์สินทั้งหมดของตนให้นาย ข. แล้วเก็บพินัยกรรมฉบับนั้นไว้ต่อมานาย ข. ประพฤติตนไม่เหมาะสม นาย ก. จึงเปลี่ยนใจไม่ยกทรัพย์สินให้แต่กลับยกให้นาง ค. โดยแก้ไขพินัยกรรมฉบับนั้นจากชื่อนาย ข. ผู้รับพินัยกรรมเป็นชื่อนาง ค. หากนาย ก.แก้ไขพินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับดังกล่าวถูกต้องตามแบบพินัยกรรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 1657 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ นาย ก. แก้ไขด้วยลายมือตนเองและลงลายมือชื่อกำกับไว้ พินัยกรรมฉบับนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ใช่พินัยกรรมปลอม
ถ้าหากผู้ทำเอกสารนั้นหมดอำนาจที่จะแก้ไขเอกสารนั้นแล้วยังไปแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ผู้กระทำอาจมีความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ได้ หากการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว และแม้ข้อความที่แก้ไขนั้นจะเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 162
กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2536 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมโจทก์ มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุม ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้นโดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึก พร้อมทั้งโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วหมดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นได้ต่อไป การที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่าสอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาซึ่งไม่เป็นความจริงจึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริงโดยปราศจากอำนาจ ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหายินยอมให้เติมข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่แล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้จึงมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2526 ดังกล่าวข้างต้น เพราะข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จำเลยมีหน้าที่ทำรายงานการประชุมและลงลายมือชื่อตนเองเป็นผู้ทำ ได้เขียนรายงานการประชุมเป็นความเท็จแต่แรก มิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมภายหลังการกระทำของจำเลย จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารนั้นมุ่งรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 หากคดีที่บันทึกนี้ จำเลยที่ 1 เขียนในบันทึกการจับกุมตั้งแต่แรกก่อนลงลายมือชื่อของตนว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาอันเป็นความเท็จ แล้วจึงลงลายมือชื่อตนและให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อ กรณีนี้คงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้งและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามมาตรา 162 มิใช่การทำเอกสารปลอมโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ตามมาตรา 161 เพราะบันทึกการจับกุมนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 ที่ทำขึ้นเอง
มีข้อที่น่าสังเกตตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2536 อีกประการหนึ่งคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 162 มิใช่บทเฉพาะของบทบัญญัติ มาตรา 157 กล่าวคือ เมื่อการกระทำใดเป็นความผิดตามมาตรา 161 หรือ 162 แล้วมิได้หมายความว่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 157 อีกไม่ได้ หากการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วย ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังนั้น ศาลฎีกาจึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 161 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ก่อนคดีนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392-4393/2531 วินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้แล้ว
แต่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่น เช่น มาตรา 147,148 และ 149 หากการกระทำใดเป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าวแล้วแม้จะครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วย แต่มาตรา 157 เป็นบททั่วไป ส่วนมาตราดังกล่าวเป็นบทเฉพาะ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2511)
ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ บทบัญญัติมาตรา 195 และ 225 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้เฉพาะในเรื่องข้อกฎหมายว่า ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงจะฎีกาได้เว้นแต่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยฎีกา ผู้ฎีกายกขึ้นอ้างได้แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่บทมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงการฎีกาในข้อเท็จจริงด้วยว่าต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองหรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งส่งผลให้การฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างต้องห้ามมิให้ฎีกาด้วย
"ปริญญา ดีผดุง".