วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไม่มีหมายค้น เลขที่บ้านผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3479/2548
ป.วิ.อ. มาตรา 59, 60(3), 60(4) (ค)
           จำเลยทั้งสี่นำสืบยอมรับว่าถูกจับกุมในห้องเช่าที่เกิดเหตุและเจ้าพนักงานตำรวจได้เมทแอมเฟตามีนเป็นของกลางจริง แม้จะปรากฏว่าห้องเช่าดังกล่าวเลขที่ 82/16 ไม่ใช่เลขที่ 105 ตามที่ระบุในหมายค้น แต่ตามหมายค้นดังกล่าวได้ระบุเหตุที่ขอออกหมายค้นว่า การสืบสวนทราบว่าที่บ้านจำเลยที่ 1 เลขที่ 105 ห้องเช่า มียาเสพติดให้โทษซุกซ่อนอยู่ในบ้านหรือบริเวณบ้านจึงขอให้ศาลออกหมายค้น โดยระบุชื่อและนามสกุลจำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้อง และร้อยตำรวจโท บ. ผู้จับกุมซึ่งเป็นผู้ขอออกหมายค้นดังกล่าวก็เบิกความระบุสาเหตุที่ระบุเลขที่บ้านในหมายค้นว่าบ้านเลขที่ 105 เพราะสายลับระบุเช่นนั้น เมื่อเข้าจับกุมจึงปรากฏว่าเป็นบ้านเลขที่ 82/16 จึงเป็นการขอออกหมายค้นเพื่อตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 การระบุเลขที่บ้านผิดไม่ทำให้การตรวจค้นจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ การตรวจค้นโดยมีหมายค้นกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6475/2547
ป.วิ.อ. มาตรา 92, 120, 226
            ศาลออกหมายค้นบ้านของจำเลยตามหมายค้นเอกสารหมาย จ. 1 โดยระบุเลขที่บ้านเป็นเลขที่ 74 ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจร้องขอ การที่ ร.ต.อ. ก. แก้เลขที่บ้านในหมายค้นเป็นเลขที่ 161 เพื่อให้ตรงกับความจริงโดยไม่มีอำนาจ อันอาจมีผลให้หมายค้นเสียไปและการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เมื่อปรากฏว่าคดีมีการสอบสวนกันโดยชอบ ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยก็นำสืบรับว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเฮโรอีนของกลางฝังอยู่ในดินห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 3 เมตร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาย่อมรับฟังลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164 / 2546
              การค้นบ้านที่เกิดเหตุนั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการค้นจะได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแก่เจ้าของบ้านก่อนก็ตาม แต่ก่อนที่จะดำเนินการค้นก็ได้ขอความยินยอมจากเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุก่อน ซึ่งแสดงว่าการค้นดังกล่าวกระทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจความยินยอมของมารดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ขู่เข็ญหรือหลอกลวงให้ให้ความยินยอมในการค้น แม้การค้นดังกล่าวจะกระทำลงโดยไม่มีหมายค้นที่ออกโดยศาลอนุญาตให้ค้นได้ ก็หาได้เป็นการค้นโดยมิชอบแต่อย่างใดไม่ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการค้นนั้น ได้เห็นจำเลยซึ่งอยู่ในห้องนอนโยนสิ่งของออกไปนอกหน้าต่าง เมื่อไปตรวจสอบดูก็พบเมทแอมเฟตามีน อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยกำลังกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดซึ่งหน้าและได้กระทำลงในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1), 92 (2) เมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 เม็ด ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จึงนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
             (หมายเหตุ.- ในเรื่องความรับผิดในทางอาญานั้น มีหลักว่า หากยินยอมให้มีการกระทำเช่นหญิงที่อายุเกินสิบห้าปียอมให้ชายร่วมประเวณีด้วยโดยสมัครใจ การกระทำของชายก็ไม่เป็นข่มขืนกระทำชำเรา หรือหากผู้ครอบครองทรัพย์อนุญาตให้ผู้กระทำเอาทรัพย์ไปการกระทำก็ไม่เป็นการแย่งการครอบครอง)

การล่อซื้อในคดีละเมิดลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4301/2543
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) , 28(2) , 195 วรรคสอง , 225 , 227
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 4 วรรคสาม, 4 วรรคสี่, 30
             เมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญาจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนี้ ในการที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามคำฟ้องนั้น นอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามคำฟ้องแล้ว ยังต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ด้วย
             จำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องก่อนที่ ส. ซึ่งรับจ้างทำงานให้โจทก์จะไปล่อซื้อ แต่จะมีการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลังจากที่ ส. ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ ส. ตามที่ได้ตกลงกันในวันที่ ส. ไปล่อซื้อ พนักงานของจำเลยที่ 1อาจนำแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบเข้ามาใช้เป็นต้นแบบบันทึกถ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่ ส. ล่อซื้อในช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โรงงานเสร็จและส่งไปที่สำนักงานจำเลยที่ 1 เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อตามเวลาที่นัดไว้ การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้วเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำให้แก่ ส. มิใช่ทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ น่าเชื่อว่าการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
            ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
             หมายเหตุ.- 
             ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานมาโดยตลอดว่า ผู้ได้รับความเสียหายโดยพฤตินัย หากมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ยินยอมให้มีการกระทำความผิดหรือพัวพันในการกระทำความผิดแล้วย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
             คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่ผู้เสียหายโดยพฤตินัยมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังที่ศาลฎีกากล่าวว่า "การที่ผู้กระทำความผิดด้วยการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อและแจกจ่ายตามฟ้องนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของนายสตีเฟ่นซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดดังกล่าวขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้"
             มีข้อสังเกตว่าหากผู้เสียหายหรือตัวแทนมิได้ดำเนินการไปล่อซื้อเองแต่ไปร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีให้ หากพนักงานสอบสวนแสวงหาพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดด้วยวิธีการอย่างเดียวกับที่โจทก์ในคดีนี้กระทำทุกอย่าง ปัญหาว่าจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
             การล่อให้กระทำความผิด หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า"Entrapment" นั้น ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาเคยตัดสินไว้ว่า คือกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก่อให้บุคคลซึ่งมิได้คิดจะกระทำความผิดนั้น ๆ เกิดความคิดที่จะกระทำนั้น ๆ และได้กระทำความผิดนั้น ๆ ขึ้น ซึ่งผลในทางกฎหมายคือ ถือว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดเพราะผู้บัญญัติกฎหมายไม่ประสงค์ให้ความผิดนั้น ๆ ครอบคลุมถึงบุคคลที่กระทำเพราะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกระตุ้นให้กระทำ (คดี Sorrellsv.U.S.,287U.S.435(1932);Shermanv.U.S.,356U.S.369(1958);U.S.vRussell,411U.S.423(1973) หลักสำคัญที่จะถือว่าเป็น Entrapment คือผู้กระทำตั้งใจที่จะกระทำความผิดนั้น ๆ อยู่ก่อนแล้วหรือไม่ หากพร้อมอยู่แล้วก็ไม่เป็นการล่อแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้กลยุทธประการใด ๆ ในการแสวงหาพยานหลักฐานก็ตาม ศาลของสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่าจะถือเป็นการล่อได้ ผู้ทำการล่อต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เป็นตัวแทนเช่น สายลับของเจ้าหน้าที่ การกระทำของเอกชนคนหนึ่งที่กระตุ้นให้เอกชนอีกคนหนึ่งกระทำความผิดไม่ถือเป็นการล่อ (Hendersonv.U.S.,237F.2d169(5thCir.1956))

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรณีไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2535/2550
ป.อ. มาตรา 138
ป.วิ.อ. มาตรา 80, 195
               คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีและใช้อาวุธปืนเข้าลักษณะฉกรรจ์ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน การกระทำของจำเลยไม่เข้าลักษณะฉกรรจ์และพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
             ในวันเกิดเหตุเมื่อนาย บ. พบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้านนาง ว. และนาง ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของนาง ว. ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2)
              ดังนั้น นาย บ. ไม่มีอำนาจที่จะจับนาง ว. โดยไม่มีหมายจับได้ การที่นาง ว. ตามนาย บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับนาง ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป นาย บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและนาย บ. ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวางนาย บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
              คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ฐานช่วยเหลือผู้อื่นให้ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเรื่องนอกฟ้องและโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษจึงลงโทษตามมาตรา 189 ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 และ 191 เนื่องจากโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยหลังจับกุมก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ได้ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2542
               จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้เสียหายที่ได้ก่อการทะเลาะวิวาทก่อนหน้านั้น แต่เหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ยุติลงแล้ว เหตุวิวาทยังไม่ชัดแจ้งว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด ไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า โดยมีคู่กรณีกับผู้เสียหายชี้ให้จับ แต่มิได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบ
               อีกทั้ง ไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี จำเลยซึ่งไม่มีหมายจับ ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจับผู้เสียหาย จำเลยจับผู้เสียหายโดยไม่แจ้งข้อหาไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจ ชี้เจตนาจำเลยว่ากระทำโดยโกรธแค้น แสดงอำนาจ เพื่อข่มขู่กลั่นแกล้งผู้เสียหายให้เดือดร้อนเสียหาย
               การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องรุนแรงต่อความรู้สึกของประชาชนไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  46/2482
ป.อ. มาตรา 120
ป.วิ.อ. มาตรา 78, 80
              จำเลยได้รับเรือซึ่งถูกผู้ร้ายลักไปโดยจำเลยรู้ว่าเป็นของร้าย กำนันไปตรวจค้นและจับเรือของกลางซึ่งซ่อนไว้ได้แล้วกำนันไปจับตัวจำเลย ๆ ใช้หอกต่อสู้แต่ทำร้ายกำนันไม่ได้ และกล่าวคำด่าว่ากำนัน
             ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดตาม ม.120 ในเวลาที่ไปตรวจค้นและจับของกลางไม่ใช่เวลาที่จำเลยกระทำผิดซึ่งหน้าตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.80 กำนันจึงไม่มีอำนาจจับกุมตาม ม.78 เพราะกำนันไม่มีหมายจับ ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า และจะริบหอกของกลางไม่ได้

วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2558

เติมข้อความในบันทึกการจับกุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1797/2536
ป.อ. มาตรา 157, 161, 177
ป.วิ.พ. มาตรา 249
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 158 (5)
               เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการจับกุมโจทก์ มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุม ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้น โดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึกพร้อมทั้งให้โจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่า สอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161
               จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจับกุมผู้กระทำความผิดได้จับกุมโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสาร แต่กรอกข้อความเพิ่มเติมลงในบันทึกจับกุมว่า สอบถามโจทก์แล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งที่ทราบว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะบันทึกการจับกุมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ศาลอาจฟังลงโทษโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความว่า "ข้าพเจ้าเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานและขอจับกุมโดยแสดงหมายจับให้จำเลยที่ 1 ดูด้วย ข้าพเจ้าแจ้งข้อหาจำเลยฐานปลอมเอกสารตามข้อความในหมายจับจำเลยให้การรับสารภาพ" ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าข้อที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ฟ้องโจทก์จึงขาดการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเท่าที่จะทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ได้
               เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตซักค้านพยาน อันเป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างขึ้นมาในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

            หมายเหตุ.-
            ปัญหาว่าการกระทำใดเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 หรือเป็นความผิดตามมาตรา 162 บางครั้งไม่ง่ายนักที่จะแยกความแตกต่างของบทบัญญัติ 2 มาตราดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสนในการปรับบทลงโทษไม่น้อย ข้อแตกต่างที่เห็นชัดจากองค์ประกอบความผิดตามตัวบทของ 2 มาตรานี้ อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้
            มาตรา 161
            1. เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ (1) ทำเอกสาร (2) กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือ (3) ดูแลรักษาเอกสาร
            2. กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น
            3. เจตนา
            มาตรา 162
            1. เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ (1) ทำเอกสาร (2) กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือ (3) รับเอกสาร
            2. กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ (1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ (2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง (3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้นหรือ (4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
            3. เจตนา