วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอออกหมายจับได้

                ศาลจังหวัดชลบุรีขอหารือกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมผู้ต้องหามาแล้วส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ ต่อมามีการปล่อยตัวผู้ต้องหาเนื่องจากได้รับการประกันตัวในชั้นอัยการหรือเหตุอื่นใด เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องแต่ผู้ต้องหาหลบหนีหรือไม่มาศาลตามนัด และมีความจำเป็นที่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องดังกล่าวแล้ว บุคคลที่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับในข้อหาที่สั่งฟ้องเมื่อจับกุมผู้ต้องหามาฟ้องนั้น ควรเป็นพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอออกหมายจับได้ ตามข้อ 9 ของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญาพ.ศ. 2548 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 และมาตรา 143
                สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 9 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ร้องขอให้ออกหมายว่า "พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่นซึ่งร้องขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้น จะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้น..." ซึ่งมีข้อสังเกตตามคู่มือการออกคำสั่งหรือหมายอาญาว่า เจ้าพนักงานอื่น หมายความรวมถึง เจ้าพนักงานที่ทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายที่ตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปรามเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เจ้าพนักงานสอบสวนคดีภาษี หรือพนักงานอัยการ
              ดังนี้ พนักงานอัยการจึงเป็นเจ้าพนักงานอื่นที่ร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาได้ สำหรับพนักงานสอบสวนอาจร้องขอให้ศาลออกหมายจับตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้น แม้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จและได้เสนอความเห็นควรสั่งฟ้องพร้อมส่งสำนวนกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการแล้ว ก็มีผลเพียงให้พนักงานสอบสวนหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนต่อไป ไม่ได้ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนร้องขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาลเมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับตามกฎหมายแต่ประการใด