คำสั่ง ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- คำสั่ง ตร. ที่ ๘๐/๒๕๕๑ ลง ๓๐ ม.ค.๒๕๕๑ เรื่องการกำหนดวงเงินประกัน การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกันและการใช้บุคคลเป็นประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน- ป.วิ.อ. มาตรา ๑๑๐ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.วิ.อ. (ฉ.๒๒) พ.ศ.๒๕๔๗
- กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พ.ศ.๒๕๔๙
- ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๘
การกำหนดวงเงินประกันในชั้นสอบสวน
๑. คดีความผิดลหุโทษหรือที่มีโทษปรับสถานเดียว
= ไม่เกินร้อยละ ๓๗.๕ ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น
๒. คดีความผิดที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอัตราโทษปรับสูง ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม
= ไม่ควรเกินร้อยละ ๓๗.๕ ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น และไม่ว่ากรณีใดต้องไม่เกินอัตราโทษปรับขั้นสูง
๓. คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ไม่เกิน ๕ ปี
= ไม่เกิน ๗๕,๐๐๐ บาท
๔. คดีที่มีอัตราโทษจำคุก เกิน ๕ ปี แต่ไม่มีโทษสถานอื่นที่หนักกว่าโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย
= ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท / ระวางโทษจำคุก ๑ ปี (ทั้งในส่วนที่เป็นอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำ)
๕. คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต
= ไม่เกิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท
๖. คดีที่มีโทษประหารชีวิต
= ไม่เกิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท
๗. คดีที่มีหลายข้อหา (๑) ความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท (๒) ความผิดหลายกรรมต่างกัน
= ให้ถือข้อหาที่มีอัตราโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์
๘. กรณี
(๑) ผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส หรือ
(๒) ผู้ขอประกันใช้หลักทรัพย์ที่มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดี หรือ
(๓) ความผิดที่ผู้ต้องหากระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน
= จะกำหนดวงเงินประกันต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้
๙. ผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส ใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์ที่มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน
= ให้วางเงินสดหรือหลักทรัพย์เพียงร้อยละ ๒๐ จากจำนวนวงเงินประกันที่กำหนดก็ได้
๑๐. กรณีผู้ต้องหา
(๑) เป็นหญิงมีครรภ์ หรือ
(๒) มีบุตรอายุไม่เกิน ๓ ปี อยู่ในความดูแล หรือ
(๓) เป็นผู้เจ็บป่วย ถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือ
(๔) เป็นผู้พิการหรือสูงอายุ ซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจจะเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่างต้องขัง
= กำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
๑๑. ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน
= ไม่ได้กำหนดไว้
การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกัน และเอกสารที่ต้องแสดง
๑. เงินสด๒. ที่ดินมีโฉนด
= โฉนดที่ดิน และ หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
๓. ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์
= หนังสือรับรองการทำประโยชน์ และ หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
๔. ห้องชุด
= หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และ หนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
๕. ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน
= โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และ สำเนาทะเบียนบ้าน และ หนังสือประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างที่น่าเชื่อถือ
๖. หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล , สลากออมสิน , บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร , ใบรับเงินฝากประจำธนาคาร , ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว , ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว , เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทำสัญญาประกัน , หนังสือรับรองของธนาคาร หรือบริษัทประกันภัยเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
= เอกสารหลักฐานของหลักทรัพย์แต่ละประเภท อนึ่ง ในกรณีมีข้อสงสัยให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบเพื่อขอคำยืนยันจากธนาคารหรือบริษัทประกันภัย ที่ออกหนังสือรับรองนั้น