วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สารบัญ

การจับ ขัง

การค้น
-  ออกหมายค้นโดยไม่มีหลักฐาน
-  ไม่มีหมายค้น เลขที่บ้านผิด

การดำเนินคดีในชั้นสอบสวน

การปล่อยชั่วคราว
กำหนดวงเงินประกันในชั้นสอบสวน
เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกัน
นายประกันขอให้จับผู้ต้องหาหลบหนี

คดีอาญาที่เกี่ยวข้อง

วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560

การควบคุมผู้ต้องขังเดินทาง

ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี
ลักษณะที่ ๖  การควบคุม 
บทที่ ๕  การนำผู้ถูกควบคุมเดินทาง 
             ข้อ ๑๔๘  วิธีการควบคุมระหว่างเดินทาง ให้ปฏิบัติดังนี้  
                         (๒)  ถ้าจะควบคุมหรือพาผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังไปยังสถานที่หนึ่งที่ใดให้ใช้ยานพาหนะตามแต่กรณี ดังต่อไปนี้
                            ก. ในกรุงเทพมหานคร  การควบคุมพาผู้ต้องหาก็ดี หรือจำเลย หรือผู้ต้องขังก็ดี ให้ไปมาในหน้าที่ที่กิจราชการของตำรวจโดยตรง ให้ใช้ยานพาหนะของตำรวจแต่ละหน่วย ที่เป็นผู้ควบคุม
                            ข.  ถ้าการควบคุมผู้ต้องขังหรือจำเลยนั้นเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์หรือกรมประชาสงเคราะห์  ทางการตำรวจเป็นแต่มีหน้าที่ดำเนินการควบคุม  ให้ใช้ยานพาหนะของกรมราชทัณฑ์หรือกรมประชาสงเคราะห์ตามควรแก่กรณี

บทที่ ๗  การรับช่วงคุมส่ง  
              ข้อ ๑๕๒  การควบคุมตัวผู้ต้องขัง หรือจำเลย หรือผู้ต้องหา ไปส่งยังจังหวัดที่มีการคมนาคมไม่สะดวก  ตำรวจในจังหวัดอื่นที่ควบคุมไม่มีความชำนาญต่อท้องที่ย่อมไปมาลำบาก ทั้งผู้ต้องขังหรือจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ควบคุมไปอาจหลบหนีได้โดยง่าย จำเป็นต้องจัดให้ตำรวจผู้ชำนาญทางกว่ารับช่วงคุมส่งไปให้ ....

บทที่ ๙   การควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือผู้ต้องขัง ไปมาระหว่างศาลกับเรือนจำ  
             ข้อ ๑๕๗   ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำผู้มอบตัวและตำรวจผู้รับมอบตัวควบคุมไปศาล ต่างฝ่ายต่างจัดสมุดไว้ฝ่ายละ ๑ เล่ม สำหรับจดรายชื่อตามที่มอบและรับตัวไว้ ให้ตำรวจผู้รับตัวลงนามรับในสมุดของพนักงานเรือนจำ และให้พนักงานเรือนจำทำเป็นบัญชีรายชื่ออีกฉบับหนึ่งซึ่งตรงกับรายนามในสมุด มอบแก่ตำรวจผู้ควบคุมไว้เป็นคู่มือตรวจสอบ
              ส่วนสมุดจดรายชื่อฝ่ายตำรวจ ให้ตำรวจผู้ควบคุม ที่นำตัวกลับจากศาลนั้น ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำลงนามรับตัวคืนในสมุดนั้นเป็นหลักฐาน
             ข้อ ๑๕๘  ถ้าตำรวจผู้ควบคุมได้รับตัวผู้ถูกควบคุมเพิ่มเติมจากศาลด้วยกรณีใดก็ตาม ก็ให้ลงรายนามเพิ่มเติมในสมุดของตำรวจ แล้วมอบตัวแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ พร้อมกับหมายศาลส่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำลงนามรับไว้ในสมุดเป็นหลักฐานเช่นเดียวกัน

มาตรการควบคุมผู้ต้องขัง 
(ตามหนังสือที่ ยธ ๐๗๐๕.๑/๓๓๔๐๕ ลง ๓ พ.ย.๒๕๕๘) 
ผู้ต้องขังไปศาล  
เรือนจำ / ทัณฑสถาน ส่วนภูมิภาค
             ๒๔.  หน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังจากเรือนจำไปศาล เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
             ๓๕. ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจค้นพาหนะในการรับ-ส่งผู้ต้องขังไปศาลอย่างละเอียด ทั้งไปและกลับ
             ๓๖. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของรถยนต์บรรทุกผู้ต้องขังก่อนการรับ-ส่ง หากเห็นว่ายังขาดความมั่นคงปลอดภัยให้ทำการปรับปรุงเพื่อให้มั่นคงปลอดภัยในการควบคุมผู้ต้องขัง
              .....
 เรือนจำ / ทัณฑสถานในเขตกรุงเทพมหานครและเรือนจำกลางบางขวาง  
              ๔๓.  หน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังไปศาล เป็นหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำพิเศษธนบุรี  และเรือนจำพิเศษมีนบุรี

ระเบียบ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้อง
-  หนังสือที่ ยธ ๐๗๐๕/ว ๗๕ ลง ๑๖ ธ.ค.๒๕๔๖  เรื่อง มาตรการในการควบคุมและการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาขังกรณีไปศาล และกรณีรับตัวเข้าใหม่
-  หนังสือที่ ยธ ๐๗๐๕.๑/๓๓๔๐๕ ลง ๓ พ.ย.๒๕๕๘  เรื่อง มาตรการควบคุมผู้ต้องขัง
-  ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๖ การควบคุม

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ระเบียบว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนการสอบสวนคดีคอมพิวเตอร์

ระเบียบว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
                อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
                ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบ ว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐”
                ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                ข้อ ๓  ในระเบียบนี้
                “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความถึง ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
                “พนักงานสอบสวน” หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                “การปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน” หมายความว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่และหรือพนักงานสอบสวนได้ให้ความเห็นหรือคำแนะนำ และหรือตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มการสอบสวนในคดี โดยให้เริ่มดำเนินการนับแต่โอกาสแรกเท่าที่จะพึงกระทำได้
                “การสอบสวนร่วมกัน” หมายความว่า การสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
                ข้อ ๔  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนเป็นผู้รับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตนหรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน และเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ใน หมวด ๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
               ข้อ ๕  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามข้อ ๔ แล้วให้พนักงานสอบสวนประสานงานกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบการกระทำความผิด
               ข้อ ๖  ในการจับ ควบคุม และค้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประสานมายังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
               ข้อ ๗  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน หมวด ๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้มีการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน และการสอบสวนร่วมกัน และมีหน้าที่ส่งมอบพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมดให้กับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จนกว่าการสอบสวนในคดีนั้นจะเสร็จสิ้น
                ข้อ ๘  เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำความเห็นในรายงานความเห็นทางคดี และลงลายมือชื่อ และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการในท้องที่ที่มีเขตอำนาจ เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
                ข้อ ๙  บรรดาการใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่และหรือพนักงานสอบสวน ได้ดำเนินการไปแล้วตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก่อนระเบียบนี้มีผลใช้บังคับให้ใช้ระเบียบนี้บังคับ
                                                  ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

               พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์                                                 โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
                       นายกรัฐมนตรี                                            รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน
                                                                  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ดุลยพินิจในการแจ้งข้อหาคดีป่าไม้ของพนักงานสอบสวน

              อุทาหรณ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ออกตรวจท้องที่บริเวณป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ มาถึงบ้านพักที่เกิดเหตุของผู้ต้องหา พบไม้หวงห้ามแปรรูป ปริมาตรเกิน ๐.๒๐ ลบ.ม. กองอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านของผู้ต้องหา จากการสอบถามผู้ต้องหาแล้วรับสารภาพว่าเป็นของตนเองที่ซื้อมาจากชาวบ้านและเก็บไว้เพื่อจะสร้างบ้าน โดยไม่มีรอยตราหรือดวงตราของเจ้าพนักงานตีประทับ และผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตให้มีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง
               เจ้าพนักงานป่าไม้ แจ้งข้อหาว่า "ทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกิน ๐.๒๐ ลบ.ม. และทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ"  ชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ
               ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุม
               ในชั้นตรวจสำนวนการสอบสวน พนักงานอัยการ เห็นว่า การกระทำผิดในข้อหา "ทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำไม้หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ" ต้องมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาได้มีการทำไม้ เช่น ร่องรอยการตัด ฟัน โค่น เลื่อย ชักลาก หรือนำไม้ออกจากป่า อันจะถือได้ว่าเป็นการทำไม้ตามกฎหมาย หากไม่ปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าว เพียงแต่พบว่า ไม้ของกลางถูกแปรรูปมาก่อนเรียบร้อยแล้วและวางอยู่ใต้ถุนบ้านเท่านั้น พยานหลักฐานย่อมไม่เพียงพอที่จะฟ้องข้อหาดังกล่าวได้ ย่อมฟ้องได้แต่เฉพาะข้อหา  "มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกิน ๐.๒๐ ลบ.ม." ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗ , ๔๗, ๔๘, ๗๓, ๗๔
              เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องบางข้อหา และสั่งไม่ฟ้องบางข้อหา ในข้อหาที่สั่งไม่ฟ้อง ในต่างจังหวัด(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ก็ต้องส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมด้วยความเห็นไปยัง ผบช. หรือ รอง ผบช. เพื่อพิจารณาต่อไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕/๑  เพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลง ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗

              ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              มาตรา ๑๓๔  "เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ
              การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น"
              มาตรา ๑๒๐  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน"
 
ข้อพิจารณา.- กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจในการแจ้งข้อหา ว่าจะต้องมีหลักฐานตามสมควร แม้ว่าผู้จับจะแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบมาก่อน แต่เมื่อส่งตัวมาให้พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาพยานหลักฐานว่ามีตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้นหรือไม่ แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ ถ้ามีการแจ้งข้อหาและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
               ตามอุทาหรณ์ พนักงานป่าไม้แจ้งข้อหาในชั้นจับกุมโดยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ เมื่อส่งตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานสอบสวนแล้ว ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เมื่อปรากฎเป็นที่ประจักษ์ชัดในเบื้องต้นแล้วว่า ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอตามสมควร ที่จะแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันกับผู้จับได้ ทุกข้อหาหรือบางข้อหา พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจแจ้งข้อหาที่มีพยานหลักฐานตามสมควร ให้แก่ผู้ต้องหาทราบและทำการสอบสวนเฉพาะข้อหานั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาทั้งหมดตามที่ผู้จับกุมได้แจ้งไว้ หากแต่ในชั้นสรุปสำนวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องมีความเห็นทางคดีในกรณีที่แจ้งข้อหาแตกต่างจากที่ผู้จับกุมด้วย

สิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา

             ขณะจับกุม เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งสิทธิให้ผู้จะถูกจับทราบ ตามมาตรา ๘๓ “ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่า เขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ  เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น  ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป // ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ // พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้  และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ // ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม ที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และไม่เป็นการขัดขวางการจับ หรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย // ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวาง หรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนี  ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธี หรือการป้องกันทั้งหลาย เท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น”
             เมื่อจับกุมแล้ว ไม่ว่าผู้จับเป็นเจ้าพนักงานหรือราษฎรก็ตาม ต้องนำตัวผู้ถูกจับมอบให้แก่พนักงานตำรวจของที่ทำการพนักงานสอบสวน โดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งรับมอบตัวต้องแจ้งสิทธิให้ทราบ ตามมาตรา ๘๔ “เจ้าพนักงาน หรือราษฎรผู้ทำการจับ ต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ โดยทันที  และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้  (๑) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ  ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟังและมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น  (๒) ในกรณีที่ราษฎรเป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญ เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบและแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ // เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง  แล้วให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่ง  แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗/๑ รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ ในโอกาสแรก เมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง  หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้ง ก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ ในการนี้มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกจับ // ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน  แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี”